เหมืองเมือง Wittenoom อยู่ในภูมิภาค Pibara ทางตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนมากที่สุดในซีกโลกใต้และเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีสารพิษมากที่สุดในโลก แต่ด้วยเหตุผลบางประการทำให้ยังมีนักท่องเที่ยวไปเยือนพื้นที่แห่งนี้อยู่เสมอ
ในช่วงปี 1930-1966 Wittenoom มีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 20,000 คน คนส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในเหมืองที่ปัจจุบันถูกปล่อยทิ้งร้าง และสกัดแร่ใยหินที่มีอันตรายถึงชีวิตทุกวัน ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ร้างที่รายล้อมไปด้วยป้ายคำเตือน “อันตราย” ขนาดใหญ่ เพื่อกันคนออกห่างจากพื้นที่นี้มากที่สุด
ถึงแม้ว่าการขุดแร่ใยหินจะหยุดลงไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่ Wittenoom ยังคงถูกล้อมรอบด้วยแร่ใยหินประมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งก็เพียงพอที่จะทำให้อากาศที่นั่นอันตรายถึงชีวิตได้
นักข่าวจากสำนักข่าว ABC ในเมือง Wittenoom เมื่อปี 2016
ในที่สุดในปี 2018 รัฐบาลออสเตรเลียตัดสินใจซื้อทรัพย์สินของชาวเมือง 3 คนสุดท้ายที่อาศัยอยู่ที่นั่นเพื่อความปลอดภัย แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวหลายพันคนมาเยี่ยมชมที่ Wittenoom ทุกปีและโพสต์รูปถ่ายอย่างภาคภูมิใจบนโซเชียลมีเดีย
เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากแร่ใยหินจำนวน 2,000 รายใน Wittenoom เป็นชาวเมืองที่ทำเหมืองแร่ในออสเตรเลีย แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการมาเยือนในระยะสั้น ๆ ก็สามารถส่งผลร้ายแรง การสัมผัสกับเส้นใยแร่ใยหินเพียงเส้นเดียวก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
เจ้าหน้าที่ได้ทำทุกอย่างเพื่อกันผู้คนให้ออกห่างจากพื้นที่แห่งนี้ ชื่อ Wittenoom ถูกถอดออกจากแผนที่และป้ายถนน ตัดการเชื่อมต่อจากโครงข่ายไฟฟ้า และติดป้ายเตือนไว้รอบ ๆ แต่นักท่องเที่ยวสายลุยก็ไม่สนใจคำเตือนเลยแม้แต่น้อย
Ben Wyatt รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการชนพื้นเมืองกล่าวว่า ป้ายเตือนเหล่านี้ไม่ได้มีไว้สำหรับตกแต่งหรือเพิ่มในคอลเลกชัน Instagram และสารปนเปื้อนเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง เขายังกล่าวอีกว่าการเดินทางไป Wittenoom เป็นเรื่องที่งี่เง่ามาก
แต่ความน่าสะพรึงกลัวของ Wittenoom กลับดึงดูดผู้คนให้มาเยือนถึงแม้ว่าจะมีอันตรายที่เห็นได้ชัดเจนก็ตาม นักท่องเที่ยวจะเดินไปรอบ ๆ เพื่อหามุมถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย
บางคนคิดว่าการมาเยี่ยมเยือนช่วงสั้น ๆ ไม่น่าจะเป็นอันตราย หรือถ้าลมไม่พัดมา ความเสี่ยงที่จะสูดดมใยหินเข้าไปน่าจะมีน้อย ในขณะที่บางคนรู้สึกสนุกเหมือนได้ผจญภัยในสถานที่ที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้าใกล้
แต่พวกเขาไม่ได้ตระหนักเลยว่าการสัมผัสแร่ใยหินสามารถทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้ เช่น โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด โรคปอดใยหินเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด ซึ่งอาการอาจเกิดขึ้นได้หลายสิบปีหลังจากการสัมผัส
มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเห็นรัฐบาลดำเนินการทำความสะอาดเมือง Wittenoom อย่างจริงจังเพื่อกำจัดแร่ใยหินที่ตกค้างอยู่ทั้งหมด แต่ Ben Wyatt กล่าวว่าต้องใช้เงินลงทุนหลายพันล้านสำหรับโครงการดังกล่าว
และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พื้นที่ดังกล่าวจะปลอดภัยสำหรับให้มนุษย์อยู่อาศัย การอยู่ห่าง ๆ และลืมไปว่าสถานที่แห่งนั้นมีอยู่จริงจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ