ถ้าพูดถึงคำว่า พีระมิด หลายคนอาจนึกไปถึงสถาปัตยกรรมที่น่าทึ่งในยุคอียิปต์โบราณ แต่ยังมีอีกประเทศที่มีพีระมิดโบราณจำนวนมากตั้งอยู่นั่นก็คือประเทศเม็กซิโก ถึงแม้มันอาจมีรูปทรงต่างออกไป แต่การค้นพบสิ่งที่น่าสนใจในพีระมิดเหล่านั้นก็ไม่แพ้พีระมิดในอียิปต์แม้แต่น้อย
และล่าสุดนักโบราณคดีได้พบช่อดอกไม้ที่อยู่ในอุโมงค์ใต้พีระมิดเตโอติอัวกาน (Teotihuacan) ที่มีอายุมานานกว่า 2,000 ปี โดยมันถูกวางอยู่ใต้กองฟืนที่เอาไว้สร้างกองไฟ และมันก็สามารถอยู่รอดมาได้อย่างน่าอัศจรรย์
เศษซากช่อดอกไม้ดังกล่าวยังอยู่ในสภาพดีภายใต้อุโมงค์ที่คดเคี้ยวอยู่ใต้พีระมิดของเมืองโบราณ “เตโอติอัวกาน” ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเม็กซิโกซิตี้ในปัจจุบัน
พีระมิดเตโอติอัวกานตอนที่ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกจะมีความสูงถึง 23 เมตร ซึ่งมีความสูงว่าสฟิงซ์แห่งกิซ่าของชาวอียิปต์โบราณ โดยพีระมิดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ “วิหารแห่งเทพเควตซัลโคอะทัล” ซึ่งเป็นสัตว์เทพเจ้าในเทพนิยายที่มีส่วนผสมระหว่างงูห่างกระดิ่งและนก
นักโบราณคดีได้พบช่อดอกไม้ใต้พื้นดินไปราว 18 เมตร ภายในส่วนลึกสุดในอุโมงค์ เซอร์จิโอ โกเมส-ชาเวส นักโบราณคดีจากสถาบันมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์แห่งชาติของเม็กซิโก (INAH) กล่าวว่า มีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาหลายชิ้น พร้อมกับรูปปั้นของ Tlaloc เทพเจ้าแห่งฝนและความอุดมสมบูรณ์ที่ตั้งอยู่ข้างช่อดอกไม้
ส่วนดอกไม้ช่อนี้คาดว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับชาวพื้นเมืองที่เป็นคนขดอุโมงค์ และเซอร์จิโอหวังว่าการระบุเอกลักษณ์ของดอกไม้จะทำให้เขาทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับพิธีกรรมได้
ดอกไม้ที่ถูกพบไม่ได้มีเพียงแค่ช่อเดียว โดยไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ได้มีการพบดอกไม้หลายช่อที่แตกต่างกัน บางช่อก็ถูกมัดรวมกันประมาณ 40 ดอก ส่วนอีกช่อมีประมาณ 60 ดอก
เซอร์จิโอกล่าวว่ากองไฟขนาดใหญ่ที่ไม้ดำเป็นตอตะโกถูกวางไว้บนช่อดอกไม้ ดูเหมือนพวกเขาจะวางช่อดอกไม้ลงบนพื้นก่อนแล้วค่อยปูไม้จำนวนมหาศาลทับลงไปอีกที ด้วยปริมาณไม้ที่สูงมากจึงเหมือนเป็นเกราะป้องกันไฟไม่ให้ไหม้ลงมาถึงดอกไม้ที่อยู่ล่างสุด
สำหรับในเมืองเตโอติอัวกานมีพีระมิดหลายแห่งที่เคยเจริญรุ่งเรืองเมื่อประมาณ 2,100 ปีก่อน แต่การขุดค้นพบอุโมงค์เหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2003 เท่านั้น
โดยหลังจากนั้นได้มีการค้นพบโบราณวัตถุมากมายหลายพันชิ้น เช่น เครื่องปั้นดินเผา งานประติมากรรม เมล็ดโกโก้ หินออบซิเดียน และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยนักโบราณคดีพยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมคนโบราณจึงสร้างอุโมงค์เหล่านี้ขึ้นมาและพวกเขาใช้งานมันอย่างไร
ที่มา : livescience | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ