เหตุผลที่ชาวเบอร์มิวดามีหลังคาบ้านทำจากปูนสีขาวและมีรูปทรงแปลก ๆ

ถึงแม้ผู้คนจะรู้จักคำว่า “เบอร์มิวดา” ว่าเป็นสามเหลี่ยมอาถรรพ์ที่อยู่ทางตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ โดยมีชื่อเสียงในเรื่องลึกลับมากมายเกี่ยวกับการสูญหายของเรือและเครื่องบินจำนวนมาก แต่หลายคนกลับไม่รู้ว่า เบอร์มิวดา จริง ๆ แล้วคือชื่อของเกาะ ๆ หนึ่ง ที่อยู่บริเวณปลายสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาด้านหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นที่มาของชื่อสามเหลี่ยมอาถรรพ์แห่งนี้อีกด้วย

เกาะเบอร์มิวดาเป็นดินแดนโพ้นทะเลที่เก่าแก่ที่สุดของสหราชอาณาจักร ที่ยังคงเหลืออยู่ โดยมีชาวอังกฤษมาตั้งรกรากก่อนการรวมตัวเป็นสหราชอาณาจักรถึงสองศตวรรษ โดยถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1609 และมันเป็นเพียงเกาะธรรมดา ๆ เท่านั้นไม่ได้มีอาถรรพ์เหมือนกับตำนานพื้นที่สามเหลี่ยมบนท้องทะเลแต่อย่างใด

ซึ่งหากคุณได้มีโอกาสไปเที่ยวเกาะเบอร์มิวดา สิ่งที่โดดเด่นสะดุดตาที่สุดบนเกาะแห่งนี้นั่นก็คือ บ้านใหม่ทุกหลังที่ถูกสร้างขึ้นมาจะมีหลังคาสีขาวสว่างสดใสเหมือนกันแทบทั้งสิ้น แถมรูปทรงของมันก็ดูแปลกประหลาดเป็นขั้นบันไดคล้ายกับทรงพีระมิด ซึ่งมันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยศตวรรษที่ 18

เหตุผลดั้งเดิมของการมีหลังคาในลักษณะขั้นบันไดสีขาวคือ เนื่องจากเบอร์มิวดาเป็นเกาะที่ไม่มีลำธารหรือทะเลสาบที่อยู่ถาวรบนเกาะ ดังนั้นผู้บุกเบิกในยุคแรกจึงต้องพึ่งพาน้ำฝนที่ตกลงมาเป็นแหล่งน้ำจืดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

และเพื่อให้แน่ใจว่าฝนที่ตกลงมาจะไม่สูญเปล่า พวกเขาจึงสร้างหลังคาแบบขั้นบันไดเพื่อชะลอน้ำฝนที่ตกหนักและป้องกันไม่ให้รางน้ำล้น นอกจากนั้นหลังจากทั้งหมดจะถูกสร้างด้วยปูน ไม่ใช่กระเบื้อง เพื่อให้มันมีน้ำหนักมากพอที่จะต้านทานพายุเฮอริเคนได้

สิ่งสุดท้ายก็คือ การทาหลังคาสีขาวจะช่วยสะท้อนแสงยูวีจากดวงอาทิตย์ซึ่งช่วยทำให้น้ำบริสุทธิ์ขึ้น

เทคนิคเหล่านี้ถือว่าฉลาดแยบยลจนภายหลังได้ถูกเขียนออกมาเป็นกฎหมายในเบอร์มิวดาที่กำหนดว่า บ้านใหม่ทุกหลังในเบอร์มิวดา จะต้องถูกออกแบบมาให้พึ่งพาตัวเองได้ โดยจะต้องมีพื้นที่ถังเก็บน้ำ 36 ลิตรอยู่ข้างใต้บ้านต่อพื้นที่หลังคา 1 ตารางฟุต

โชคดีที่ปริมาณน้ำฝนต่อปีบนเกาะแห่งนี้ค่อนข้างสูง ชาวเบอร์มิวดาจึงมีน้ำฝนในถังเก็บน้ำที่ถูกนำมาใช้ได้อย่างสม่ำเสมอ แต่ละบ้านสามารถพึ่งพาน้ำที่เก็บกักเอาไว้เองได้โดยไม่ต้องมีน้ำประปาเอาไว้ใช้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ชาวเบอร์มิวดาก็ต้องใช้ชีวิตด้วยการประหยัดน้ำจนเป็นนิสัย พวกเขาใช้น้ำแก้วเดียวในการแปรงฟันหรือล้างหน้าเท่านั้น นั่นรวมไปถึงการใช้น้ำล้างจาน ซักผ้า และอาบน้ำเช่นกัน น้ำที่เหลือก็จะถูกนำไปใช้ในสวนต่อไป

แต่ปัญหาคือ อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรในเบอร์มิวดาไม่ได้สัมพันธ์กับจำนวนหลังคาที่รองรับน้ำฝนอย่างจำกัด ในเมื่อผู้คนเพิ่มขึ้น หลังคามีจำนวนเท่าเดิม นั่นจึงทำให้บางครอบครัวเริ่มเกิดปัญหา และเมื่อคุณไม่สามารถขยายหลังคาได้ คุณก็เริ่มสร้างบ้านใหม่เพื่อให้มีพื้นที่เก็บน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

ส่วนนักท่องเที่ยวที่ไม่รู้ภูมิหลังของเกาะแห่งนี้ ต่างคาดหวังการใช้น้ำจากในโรงแรมที่พวกเขาพักอย่างไม่จำกัด แต่โชคดีที่พวกเขายังสามารถหาวิธีเข้าถึงแหล่งน้ำจืดที่อยู่ใต้ดินในชั้นที่เหนือจากน้ำเค็มที่หนักกว่า แต่มันก็มีอยู่อย่างจำกัดเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เบอร์มิวดาสามารถตั้งโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลถึง 6 แห่งที่คอยช่วยผลิตน้ำรวมกันได้ถึง 13,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งนั่นคอยช่วยให้ชีวิตของผู้คนไม่ได้ลำบากแร้นแค้นในการใช้น้ำมากจนเกินไป

ที่มา : bbc | เรียบเรียงโดย เพชรมายา