เด็กหญิงผิวสีได้รับจัดสรรที่ดินแห้งแล้ง แต่ถูกพบบ่อน้ำมันจนเป็นมหาเศรษฐีผิวสีคนแรก

หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน คนผิวสีในอเมริกาไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนผิวขาวเหมือนกับในปัจจุบัน แต่บางครั้งความไม่ยุติธรรมกลับกลายเป็นความโชคดีที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ภายหลังสนธิสัญญา 1866 ที่สหรัฐอเมริกาได้ทำกับ 5 ชนเผ่าอารยะอินเดียนแดง ส่งผลให้เด็กผิวสีเกือบ 600 คนได้รับการจัดสรรที่ดินซึ่งเป็นขั้นตอนบังคับในกระบวนการรวมอาณาเขตอินเดียนแดงกับดินแดนโอคลาโฮมา เพื่อสร้างมาเป็นรัฐโอคลาโฮมาในปัจจุบัน

ซาราห์ เร็กเตอร์ เป็นเด็กหญิงผิวสีที่เกิดในปี 1902 ในเมืองทัฟต์ ทางตะวันออกของรัฐโอคลาโฮมา ในดินแดนของชาวอินเดียนในตอนนั้น เธอมีพี่น้องทั้งหมด 5 คน ที่เป็นลูกหลานของชาวแอฟริกันที่เคยเป็นทาสของชนเผ่าอินเดียนแดงมัสโคกี ครีก 1 ใน 5 ชนเผ่าอารยะ ก่อนที่ภายหลังบรรพบุรุษของเธอจะกลายเป็นเสรีชนและถือเป็นสมาชิกของเผ่ามัสโคกี ครีก ส่งผลให้เธอเองก็มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรรที่ดินเช่นกัน

ซารา เร็กเตอร์ ได้รับการจัดสรรที่ดินเป็นจำนวน 159.14 เอเคอร์ (ราว 402.5 ไร่) ในเมืองเกล็นพูล โดยอยู่ห่างจากครอบครัวของเธออาศัยอยู่ถึง 97 กิโลเมตร ที่ดินของเธอมีแต่ความแห้งแล้ง ไม่เหมาะสำหรับทำการเกษตร เนื่องจากที่ดินที่ดีกว่าถูกสงวนเอาไว้สำหรับชนผิวขาวที่มาตั้งรกรากที่นี่และสมาชิกของชนเผ่าอินเดียนแดงเท่านั้น

ในขณะที่ครอบครัวของซาราห์เองอาศัยอยู่อย่างเรียบง่ายและไม่ได้ยากจนมากนัก อย่างไรก็ตาม พวกเขาต้องเสียภาษีที่ดินของซาราห์ปีละ 30 ดอลลาห์ นั่นเป็นภาระที่ โจเซฟ เร็กเตอร์ พ่อของเธอขอยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อที่จะขายที่ดินดังกล่าว แต่ศาลได้ปฏิเสธคำขอ นั่นจึงทำให้เขาจำใจเสียภาษีต่อไป

บ้านหลังหนึ่งของชาวผิวสีบนดินแดนมัสโคกี ครีก ในโอคลาโฮมา ที่เหมือนกับที่ซาราห์ เร็กเตอร์ เกิด

เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ในปี 1911 โจเซฟตัดสินใจปล่อยเช่าที่ดินที่แห้งแล้งนี้ให้กับบริษัทขุดเจาะน้ำมัน Standard Oil จนกระทั่ง 2 ปีต่อมา บี.บี.โจนส์ นักขุดเจาะน้ำมันอิสระได้พบบ่อน้ำมันที่สามารถผลิตน้ำมันได้มากถึง 2,500 บาร์เรลต่อวัน

ครอบครัวเร็กเตอร์มีรายได้จากการค้นพบบ่อน้ำมันนี้ถึงวันละ 300 ดอลลาร์ต่อวัน (เทียบเท่ากับ 8,000 ดอลลาร์ หรือราว 264,000 บาทในปัจจุบัน) แต่กฎหมายในสมัยนั้นกำหนดให้ชาวอินเดียนแดงและชาวผิวสีที่เป็นพลเมืองของดินแดนอินเดียนที่มีทรัพย์สินและเงินจำนวนมาก จะต้องมอบหมายให้มีผู้พิทักษ์ที่เป็นที่เคารพนับถือเป็นผู้ดูแล

ต่อมาได้มีการกดดันให้เปลี่ยนผู้ปกครองของซาราห์จากพ่อแม่ของเธอไปเป็นชาวผิวขาวท้องถิ่นนามว่า ที.เจ.พอร์เตอร์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ครอบครัวเธอรู้จัก และที่ดินของซาราห์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของบ่อน้ำมัน Cushing-Drumright

ในเดือนตุลาคม 1913 ซาราห์สามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองถึง 11,567 เหรียญ จนทำให้เธอกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

ซาราห์ในวัย 12 ปี ได้รับข้อเสนอกู้เงินเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีคนมาขอแต่งงานอีกเพียบ จนกระทั่งในปี 1913 สภานิติบัญญัติแห่งรัฐโอคลาโฮมาได้มีความพยายามเปลี่ยนสถานะให้เธอกลายเป็นคนผิวขาว เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากฐานะทางสังคมที่สูงส่งของเธอ รวมถึงเพื่อง่ายต่อการทำธุรกรรมและการใช้ชีวิต อย่างเช่นการนั่งรถไฟชั้นหนึ่งที่คนผิวสีไม่สามารถนั่งได้

ในตอนนั้นเองได้มีการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิการเป็นผู้ปกครองให้กลับมาเป็นของพ่อแม่เธอ และชีวิตของซาราห์ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

จนกระทั่งอายุได้ 18 ปี เธอเป็นเจ้าของหุ้น พันธบัตร หอพัก ร้านเบเกอรี ร้านอาหาร รวมถึงที่ดิน 2,000 เอเคอร์ (ราว 5,058 ไร่) และถูกประเมินว่ามีเงินราว 1 ล้านดอลลาร์ (เทียบเท่า 28 ล้านดอลลาร์ หรือ 924 ล้านบาทในปัจจุบัน)

ในที่สุดเธอก็ย้ายออกมาจากครอบครัวไปอยู่ที่แคนซัสซิตี้ รัฐมิสซูรี ซึ่งเธอซื้อบ้านหลังโตเพื่ออาศัยอยู่ที่นั่น ก่อนที่จะแต่งงาน มีลูก 3 คน และแต่งงานใหม่อีกครั้ง

บ้านของซาราห์ในแคนซัสซิตี้

เรื่องราวของ ซาราห์ เร็กเตอร์ กลายเป็นตำนานที่ถูกเล่าขานมาจนถึงทุกวันนี้ โดยได้รับฉายาว่าเป็น “เด็กหญิงผิวสีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก” และเป็น “มหาเศรษฐีผิวสีคนแรกของประเทศ” อีกด้วย

ที่มา : wikipedia | เรียบเรียงโดย เพชรมายา