ในขณะที่ เอเวอเรสต์ เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกและถือเป็นหนึ่งในสถานที่แห่งความท้าทายที่นักผจญภัยแทบทุกคนต้องการพิชิตมันให้ได้ แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ก็คือ จำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการไปไม่ถึงยอดเขา และชะตากรรมอันน่าสยดสยองเมื่อต้องถูกทิ้งให้อยู่เบื้องหลัง
ยอดเขาเอเวอเรสต์มีความสูง 29,031 ฟุต แต่หากคุณก้าวขึ้นเกินไปกว่า 26,247 ฟุต คุณจะเข้าสู่ดินแดนที่ได้ชื่อว่า “ดินแดนมรณะ” (Death Zone)
ระดับออกซิเจนที่ต่ำรวมกับความกดอากาศสูง ทำให้นักปีนเขาหายใจได้ลำบากอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งนักผจญภัยส่วนใหญ่ตั้งเป้าที่จะออกจากดินแดนมรณะให้ได้ภายใน 48 ชั่วโมง แต่น่าเสียดายที่หลายคนไม่อาจทำได้อย่างที่ตั้งใจเอาไว้
ตั้งแต่มีการจดบันทึกเมื่อปี 1922 ยอดเขาเอเวอเรสต์มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 300 คน และมันกลายเป็นเรื่องปกติที่ร่างไร้วิญญาณของพวกเขาจะถูกทิ้งเอาไว้ ด้วยเหตุผลด้านการขนส่ง
อย่างไรก็ตาม ร่างของผู้เสียชีวิตเองก็กลายเป็น ‘เครื่องหมาย’ สำหรับนักปีนเขาที่กำลังมองไปยังยอดเขาอีกด้วย
นักปีนเขารายหนึ่งที่ไม่ระบุชื่อต้องจบชีวิตลงบนยอดเขาแห่งนี้ และทุกคนต่างเรียกเขาว่า ‘กรีนบูต’ ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องเตือนใจที่น่าสยดสยอง สำหรับนักปีนเขาทุกคนที่ขึ้นมาถึงดินแดนมรณะ
ในขณะที่นิตยสารสิมธโซเนียนรายงานว่า กรีนบูต คือ เซวัง ปัลจอร์ นักปีนเขาชาวอินเดียที่เสียชีวิตในปี 1996 และร่างของเขายังคงอยู่ในถ้ำที่นักปีนเขาทุกคนต้องผ่านเพื่อไปถึงยังยอดเขา
รองเท้าบูตสีเขียวที่โดดเด่นจึงกลายเป็นแลนด์มาร์กที่มีชื่อเสียงอันโด่งดัง เพื่อบ่งบอกว่าคุณกำลังใกล้เข้ายอดเขามากเพียงใด
ในปี 2006 ร่างของกรีนบูตไม่ได้อยู่ตามลำพัง เนื่องจากมีนักปีนเขาอีกคนที่เสียชีวิตในขณะที่หลบอยู่ในถ้ำแห่งนี้
เอเลีย ไซคาลี ผู้สร้างภาพยนตร์ที่เคยมีประสบการณ์บนยอดเขาแห่งนี้กล่าวว่า “ฉันไม่อยากจะเชื่อกับสิ่งที่เห็นบนนั้น”
“มีร่างของผู้คนมากมายระหว่างทางและในเต็นท์หลายหลัง ผู้คนที่พยายามหันหลังกลับจบลงด้วยความตาย ผู้คนต้องลากพวกเขาลงมา บ้างก็ต้องเดินข้ามร่างพวกเขาไป” ไซคาลีกล่าว
“ฉันเจอนักปีนเขาคนหนึ่งที่เสียชีวิต… ร่างของเขาถูกตรึงเอาไว้เพื่อแบ่งแยกระหว่างเส้นแบ่งเขตความปลอดภัยทั้ง 2 ฝั่ง ทุกคนที่ปืนขึ้นไปต้องข้ามเส้นนี้ ซึ่งเป็นร่างของมนุษย์”
แน่นอนว่าร่างของผู้คนที่ติดอยู่บนยอดเขา ไม่อาจถูกขนย้ายลงมาได้ง่าย ๆ เนื่องจากความยากลำบากของพื้นที่ ค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว และความเสี่ยงที่คุณจะไม่รอดกลับมา ตัวอย่างเช่นในปี 1984 นักปีนเขาชาวเนปาล 2 คนพยายามกู้ร่างชายคนหนึ่งจากยอดเขา แต่ทั้งคู่ก็ไม่รอดกลับมาเช่นกัน
ตามรายงานของ Washington Post ค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายอาจสูงถึง 70,000 เหรียญ หรือราว 2.3 ล้านบาท และนั่นคือหนึ่งในเหตุผลหลักที่ไม่มีใครต้องการสูญเสียไปอีกไม่ว่าจะเป็นเงินทองหรือชีวิตคนก็ตาม
ที่มา : ladbible | เรียบเรียงโดย เพชรมายา