ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภาพที่อ้างว่าเป็น “เจ้าหญิงกาจาร์” ได้ถูกเผยแพร่ออกไปบนโซเชียลมีเดีย โดยกล่าวว่าเธอคือตัวแทนของสตรีที่งดงามในยุคสมัยของเธอ บางโพสต์ถึงกับกล่าวว่า “มีชาย 13 คนปลิดชีวิตตัวเอง เพราะถูกเธอปฏิเสธความรัก” แต่เรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด
แต่ภาพเหล่านี้ก็กลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก โดยมีคนกดถูกใจและแชร์ไปหลายหมื่นครั้งบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ และแน่นอนว่าเกิดการล้อเลียนมากมายจนกลายเป็นมีมบนโลกอินเทอร์เน็ต
ความจริงและเรื่องโกหก
ในขณะที่ภาพที่กลายเป็นไวรัลของ “เจ้าหญิงการ์จา” มีอยู่ประมาณ 4-5 ภาพ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นภาพถ่ายที่มาจากเจ้าหญิงเปอร์เซีย 2 พระองค์ ที่เป็นคนละคนกัน และเธอทั้งคู่ไม่ได้มีพระนามว่า “เจ้าหญิงกาจาร์”
เจ้าหญิงองค์แรกคือ Fatemeh Khanum “Esmat al-Dowleh” ที่ประสูติในปี 1855 และองค์ที่สองคือเจ้าหญิง Zahra Khanum “Taj al-Saltaneh” ที่ประสูติในปี 1884
ภาพของเจ้าหญิง Fatemeh Khanum “Esmat al-Dowleh”
ภาพของเจ้าหญิง Zahra Khanum “Taj al-Saltaneh”
ทั้งสองพระองค์เป็นเจ้าหญิงในศตวรรษที่ 19 โดยเป็นลูกสาวของ Naser al-Din Shah Qajar กษัตริย์ผู้ปกครองเปอร์เซียร์ในยุคนั้น และทรงหลงใหลในการถ่ายภาพตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีรูปถ่ายของพี่น้องคู่นี้ รวมถึงคนอื่น ๆ อีกมากมาย
อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่จะดึงดูดหรือปฏิเสธชายหนุ่มถึง 13 คน แต่ชีวิตของทั้งคู่ก็น่าสนใจไม่แพ้โพสต์ไวรัลที่เป็นเรื่องโกหก
Esmat al-Dowleh เป็นลูกสาวคนที่ 2 เธอแต่งงานเมื่ออายุ 11 ปี ตลอดช่วงชีวิตของเธอ เธอเรียนเปียโนและเย็บปักถักร้อยจากครูสอนพิเศษชาวฝรั่งเศส และเป็นลูกสาวที่ภาคภูมิใจของพ่อที่คอยทำหน้าที่ต้อนรับภรรยาของนักการทูตชาวยุโรปที่มาเข้าเฝ้าพ่อของเธอ
Taj al-Saltaneh เป็นลูกสาวคนที่ 12 ผู้ถูกละเลยจากครอบครัว เธอแต่งงานตอนอายุ 10 ขวบ และหย่าขาดจากสามี 2 คน ต่อมาเธอสร้างชื่อให้ตัวเองในฐานะนักสตรีนิยม ชาตินิยม และนักเขียนผู้มีพรสวรรค์ เธอเป็นผู้หญิงผู้มาก่อนกาลผู้มีพลังในขับเคลื่อนสังคมผู้หญิงเปอร์เซียอย่างแท้จริง
ผู้หญิงทั้งสองมีชีวิตที่น่าทึ่งและยิ่งใหญ่กว่าโพสต์ที่กลายเป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดีย ที่ถูกนำไปล้อเลียนกันอย่างมากมาย สิ่งเดียวที่พอจะเป็นเรื่องจริงมากที่สุดนั่นคือ ‘มาตรฐานความงาม’ ของผู้หญิงเปอร์เซียในศตวรรษที่ 19
อันที่จริงแล้ว หนวดของผู้หญิงเปอร์เซียในศตวรรษที่ 19 ถือเป็นความสวยงาม ผู้หญิงจะให้ความสำคัญกับคิ้วที่หนาและขนที่อยู่เหนือริมฝีปาก จนบางครั้งก็ใช้การปัดมาสคาราเข้าช่วย
ในทางกลับกัน ผู้ชายไร้หนวดเคราที่มีลักษณะบอบบางก็ถือว่ามีเสน่ห์เช่นกัน แต่มาตรฐานความงามของพวกเขาเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อชาวเปอร์เซียเริ่มเดินทางไปยุโรปมากขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นพวกเขาก็เริ่มปฏิบัติตามมาตรฐานความงามของยุโรปและทิ้งความเป็นตัวเองเอาไว้เบื้องหลัง
แน่นอนว่าโพสต์ที่กลายเป็นไวรัลพูดไม่ผิดเกี่ยวกับมาตรฐานความงามของชาวเปอร์เซีย แต่มันถูกเล่าเกินจริงและใส่สีตีไข่ไปมากมายจนกลายเป็นเรื่องขบขันและง่ายต่อการแชร์ ซึ่งแท้จริงชาวเน็ตไม่เคยรู้ว่าพวกเธอมีประวัติอันน่าทึ่งมากแค่ไหน
ที่มา: allthatsinteresting