Amanita phalloides หรือที่รู้จักกันในชื่อ Death Cap หรือชื่อไทยคือ เห็ดระโงกหิน คือเห็ดที่ถูกบันทึกโดยกินเนสส์ว่า “มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก” แต่หนึ่งในความสามารถอันน่าทึ่งของมันที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ประทับใจนั่นก็คือวิธีการที่พวกมันสามารถแพร่กระจายและยึดครองดินแดนใหม่ได้ โดยเฉพาะในแคลิฟอร์เนีย
จริง ๆ แล้ว เห็ดระโงกหินมีต้นกำเนิดในทวีปยุโรป มันเติบโตด้วยการฝังตัวเองไปในรากของต้นโอ๊กยุโรปและสร้างความสัมพันธ์ทางชีวภาพกับต้นโอ๊กเหล่านี้ แต่มันเองก็สามารถไปสร้างอาณานิคมได้ในทุกทวีปทั่วโลกยกเว้นเพียงแอนตาร์กติกาเท่านั้น
กระบวนการสืบพันธุ์ของมันทำให้นักวิทยาศาสตร์ประทับใจอย่างมาก กรณีที่เห็นชัดที่สุดเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่แคลิฟอร์เนีย เมื่อพวกมันติดไปกับต้นกล้าในกระถางดินจากยุโรป
เห็ดพิษเหล่านี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วแคลิฟอร์เนียอย่างรวดเร็ว จากบริเวณอ่าวที่ห่างไกลตามแนวชายฝั่ง จนในที่สุดพวกมันก็มีจำนวนมากกว่าในถิ่นกำเนิดของมันที่ยุโรป
ความลับของพวกมันคืออะไร
อ้างอิงจากงานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา เห็ดระโงกหินจากทั่วสารทิศที่ถูกรวบรวมมาทั่วแคลิฟอร์เนียแสดงให้เห็นว่า DNA ของพวกมันเหมือนกันแทบจะสมบูรณ์ นั่นหมายความว่าพวกมันโคลนนิ่งตัวเองแบบไม่อาศัยเพศ ไม่จำเป็นต้องสืบพันธุ์เพื่อแพร่กระจายสปอร์
ความสามารถในการสืบพันธุ์นี้ทำให้นักวิจัยประหลาดใจอย่างมาก เนื่องจากตัวอย่าง DNA จากเห็ดระโงกหินในยุโรปแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พวกมันสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เช่นเดียวกับเห็ดที่เก็บมาจากนิวเจอร์ซีย์และนิวยอร์ก
ลำดับ DNA แสดงให้เห็นว่า เห็นระโงกหินในแคลิฟอร์เนียมีสารพันธุกรรม (Genetic Materials) ที่เหมือนกันทุกประการ และใช้ความสามารถในการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศมานานกว่า 30 ปีแล้ว นักวิจัยจึงเชื่อว่าพวกมันสามารถเปลี่ยนรูปแบบการสืบพันธุ์ให้ไม่ต้องอาศัยเพศเพื่อช่วยให้มันแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในภูมิภาคใหม่ จากนั้นจึงเปลี่ยนกลับไปเป็นการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเมื่อการล่าอาณานิคมเสร็จสิ้น
โชคร้ายก็คือ เห็ดที่อันตรายที่สุดในโลกเหล่านี้มีหน้าตาคล้ายคลึงกับเห็ดที่มนุษย์กินได้หลายชนิด ว่ากันว่ามันมีรสชาติดีเช่นกัน แต่สารพิษหลักอย่างแอมาท็อกซิน (Amatoxins) จะทำลายตับและไตคุณ จนกระทั่งเสียชีวิต
หากคุณคิดว่าจะนำมันไปปรุงให้สุกก็ยังไม่รอด เพราะแอมาท็อกซินนั้นทนความร้อน นั่นหมายความว่าพิษของมันแทบจะไม่ลดลงเลยเมื่อผ่านการปรุงสุก โชคร้ายซ้ำสองก็คือ ในขณะนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาพิษของมันอีกด้วย
ที่มา: odditycentral