ถ้าพูดถึงสิ่งก่อสร้างโบราณที่แฝงไปด้วยเรื่องลึกลับ หลายคนคงนึกถึง มหาพีระมิดกีซ่าในอียิปต์ สโตนเฮนจ์ในอังกฤษ โมอายบนเกาะอีสเตอร์ในชิลี และอีกหลายสถานที่ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า หนึ่งในสถาปัตยกรรมโบราณที่ดูลึกลับและน่าสนใจที่สุด แต่น้อยคนนักจะรู้จักนั่นก็คือวิหาร พูมาพันกู (Puma Punku) ในประเทศโบลิเวีย
พูมาพันกู เป็นซากโบราณสถานที่สำคัญ ที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิหารทิวานากูที่มีขนาดใหญ่โต โดยอยู่ในเขตเมืองโบราณเทียฮัวนาโค ใกล้กับทะเลสาบติติคาคา ในประเทศโบลิเวีย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวถูกเชื่อว่าเป็นแหล่งอารยธรรมของชาวอินคา
ลักษณะที่โดดเด่นของพูมาพันกู คือเป็นแนวกำแพงหินในลักษณะเป็นบล็อกเรียบเนียนวางต่อเนื่องกัน โดยมีความกว้างถึง 167.36 เมตร และยาว 116.7 เมตร สำหรับแผ่นหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีความยาวถึง 7.81 กว้าง 5.17 และมีความหนาเฉลี่ย 1.07 เมตร โดยมีน้ำหนักถึง 131 ตัน
สิ่งที่น่าสนใจและดูเหมือนจะเป็นเรื่องลึกลับเรื่องแรกก็คือ หินก้อนมหึมาเหล่านี้ถูกขนย้ายขึ้นไปบนภูเขาสูงที่เป็นพื้นที่ตั้งของวิหารทิวานากูได้อย่างไร มนุษย์โบราณในยุคนั้นในวิธีอะไรในการขนย้ายหินที่หนักเฉลี่ยหลายสิบตันขึ้นไปบนเขาสูงหลายพันฟุตได้ ทั้ง ๆ ที่อารยธรรมของชาวอินคาไม่เคยคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ทุ่นแรงอย่างล้อเลื่อนมากก่อน
และสิ่งที่ชวนให้เป็นปริศนามากที่สุดก็คือ หินแกะสลักที่เป็นรูปตัว H และรูปต่าง ๆ ที่คล้ายกัน หินเหล่านี้มีกรรมวิธีในการก่อสร้างอย่างไร ให้มีความเรียบเนียนราวกับการใช้เลเซอร์ตัด
โดยเฉพาะเหลี่ยมมุมต่าง ๆ ที่ค่อนข้างเป๊ะเข้ากันได้พอดิบพอดีราวกับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการคำนวณ
ยังไม่รวมรอยกรีดลงไปในหินที่มีความลึกราว 1 เซนติเมตรที่เรียบเสมอกัน หรือจะเป็นรอยเจาะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนหิน ซึ่งไม่น่าจะมีเครื่องมือของคนโบราณสามารถทำได้ขนาดนี้
นี่จึงเป็นปริศนาที่นักโบราณคดี รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ยังมึนงงว่า หินเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร รวมไปถึงการสันนิษฐานของนักทฤษฎีสมคบคิดว่า อาจจะมีสิ่งมีชีวิตที่มีภูมิปัญญาสูงกว่ามนุษย์ยุคปัจจุบัน มาช่วยคนโบราณสมัยก่อนสร้างมันขึ้นมาก็เป็นได้
ที่มา : wikipedia | เรียบเรียงโดย เพชรมายา