หิมะแร่ใยหิน หิมะปลอมที่อันตรายที่สุดที่เคยถูกใช้ทั่วบ้านทั่วเมืองในอดีต

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน ในยุคที่วิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญก้าวหน้า และมนุษย์เรายังไม่เข้าใจถึงอันตรายจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเหมือนทุกวันนี้ โดยเฉพาะธาตุทางเคมีหรือแร่หินต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ในช่วงปลายทศวรรษ 1920 ผ้าฝ้ายเป็นส่วนผสมหลักที่ถูกนำมาใช้ทำหิมะปลอมในภาพยนตร์ฮอลลีวูดและในบ้านเรือนของผู้คน แต่ในปี 1928 นักดับเพลิงคนหนึ่งได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของการนำผ้าฝ้ายมาทำหิมะปลอม โดยสังเกตว่ามันเป็นต้นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ได้ง่าย ดังนั้นเขาจึงเสนอให้ใช้ “แร่ใยหิน” เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า

แร่ใยหิน (Abestos) เป็นกลุ่มของแร่ซิลิเกตที่เกิดตามธรรมชาติที่นิยมนำมาใช้ทางการค้าเพราะคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ดี แร่ใยหินมีผลึกที่เป็นเส้นใยยาว การหายใจเอาฝุ่นใยหินบางชนิดเข้าไปในปอดจะโอกาสทำให้เกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอดมากกว่าปกติ 100-500 เท่า และมะเร็งปอด 10-50 เท่า ซึ่งมักพบบ่อยในคนงานเหมืองใยหิน

แต่ในตอนนั้นเอง ผู้คนไม่ได้ตระหนักถึงอันตรายของแร่ใยหินดังนั้นผู้คนจึงใช้หิมะปลอมที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินกันอย่างแพร่หลายมานานหลายทศวรรษ

หิมะปลอมเหล่านี้ถูกผลิตขึ้นภายใต้แบรนด์การค้าอย่าง “Pure White” และ “Snow Drift” ข้อดีของหิมะปลอมที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ไม่เพียงแต่ทนไฟ แต่มันยังดูสมจริงกว่าผ้าฝ้าย เกลือ แป้ง และวัสดุอื่น ๆ ที่ถูกใช้มาจนถึงปี 1928

หิมะแร่ใยหินถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูด และหนึ่งในฉากที่โด่งดังที่สุดมาจากเรื่อง The Wizard of Oz โดยเป็นฉากที่หิมะตกใส่โดโรธีและเพื่อน ๆ ของเธอ ปลุกทุกคนให้ตื่นจากมนต์สะกดของแม่มดร้ายแห่งตะวันตก ซึ่งหิมะนั้นอุดมไปด้วยแร่ใยหิน

ต่อมา แร่ใยหินเลิกนำมาใช้ทำหิมะปลอมและของประดับตกแต่งฤดูหนาวในช่วงต้นทศวรรษ 1940 เนื่องจากมีการนำแร่ใยหินจำนวนมากมาใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อป้องกันไฟให้กับเรือของกองทัพเรือ และในปี 1950 สเปรย์โฟมถูกนำมาใช้แทนที่ แต่ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเตือนว่า ของตกแต่งวินเทจที่มีลักษณะเป็นหิมะหรือน้ำแข็งอาจมีส่วนผสมของแร่ใยหินอยู่ด้วย

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “ครั้งหนึ่ง แร่ใยหินเคยถูกวางขายในรูปแบบของหิมะปลอมและถูกใช้โรยบนต้นไม้ พวงหรีด และของตกแต่งบ้าน แม้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะไม่ได้ถูกผลิตมานานหลายสิบปีแล้ว แต่มันก็ยังหลงเหลืออยู่ในตลาดของเก่าที่ถูกสืบทอดต่อ ๆ กันมา”

ปัจจุบัน สหภาพยุโรปได้ห้ามการใช้งานใยหิน รวมถึงการขุดทำเหมือง การผลิต และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ใยหิน ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ ตระหนักถึงอันตรายของใยหินและมีการออกกฎหมายควบคุมรวมถึงห้ามใช้ใยหินเป็นกรณีไป

ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา