กราฟฟิตีปริศนาโผล่โตเกียว ผู้ว่ายกย่องอาจเป็นฝีมือคนดัง แต่ชาวเน็ตสงสัยทำไมคนอื่นถูกจับ

คุณคิดว่าการขีดเขียนบนข้าวของสาธารณะเป็นสิ่งที่ผิดกฏหมายบ้านเมืองหรือไม่ ? แน่นอนว่ามันคือการทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย และไม่ว่าใครก็ตามควรต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมายอย่างเท่าเทียม แต่ถ้าเกิดการขีดเขียนนั้นเป็นฝีมือของศิลปินชื่อดังระดับโลกล่ะ เราควรดำเนินคดีกับเขาเหมือนกับคนอื่นๆ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ ?

เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียวของประเทศญี่ปุ่น ได้มีการหารือเกี่ยวกับสีสเปรย์ที่ถูกพ่นเป็นรูป “หนูถือร่ม” อยู่ที่มุมประตูระบายน้ำท่วมของสถานีฮินาโตะ ซึ่งถูกเชื่อว่าเป็นผลงานของศิลปินปริศนา Banksy ที่สร้างผลงานศิลปะแนวสตรีทอาร์ตจนเป็นที่ยอมรับมาแล้วทั่วโลก

Banksy (แบงค์ซี) คือใครล่ะ ? Banksy เป็นนามแฝงของศิลปินแนวกราฟฟิตีข้างถนนที่มีผลงานโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ซึ่งตัวตนของเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก หลังจากใช้กลไกในกรอบรูป ทำลายภาพวาด Girl With Balloon ต่อหน้าสายตาผู้ร่วมงาน ในขณะที่ราคาประมูลของมันสูงถึง 45 ล้านบาท และได้กลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก

แน่นอนว่าการพ่นสีสเปรย์บนสิ่งใดก็ตามที่เป็นของสาธารณะถือว่ามีความผิด แต่ทางผู้ว่ายูริโกะเองได้ออกแถลงการณ์ด้วยความคาดหวังที่ว่า ผลงานดังกล่าวจะเป็นของ Banksy จริงๆ โดยจะมีการนำภาพดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์ และจะถูกนำไปจัดแสดงอยู่บนอาคารสำนักงานบริหารมหานครโตเกียว ในช่วงวันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึงอีกด้วย

นอกจากนี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งข้อความไปหา Banksy ผ่านทางโซเชียลมีเดียเพื่อต้องการให้เขายืนยันว่านี่คือผลงานที่เกิดขึ้นจากตัวเขาจริงๆ แต่ทางญี่ปุ่นเองก็ยังไม่ได้รับคำตอบเป็นที่แน่ชัดเกี่ยวกับเรื่องนี้

แต่ที่เด็ดไปกว่านั้นก็คือ ทางผู้ว่ายูริโกะได้ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์จากชาวเน็ต หลังไปถ่ายรูปคู่กับผลงานชิ้นนี้ด้วยตัวเอง พร้อมกับแคปชั่นว่า “รูปหนูน่ารักๆ นี้อาจเป็นผลงานของ Banksy นี่เป็นของขวัญสำหรับโตเกียวงั้นหรือ ? ดูเหมือนหนูจะมีกระเป๋าด้วยนะ”

ส่วนชาวเน็ตก็มีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ทาง Banksy ยังไม่เคยยืนยันว่าภาพวาดนี้เป็นของเขา เช่น

“ว้าว ถ้า Banksy ปฏิเสธเรื่องนี้มา มันคงดูไม่ดีแน่นอน”

“มันไม่ใช่เรื่องปกติที่จะบอกว่ามันเป็นของ Banksy โดยที่ไม่มีการยืนยันมาก่อน”

“เมื่อ Banksy เห็นว่าใครส่งข้อความมา เขาอาจไม่ได้เปิดอ่านดู สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าใครทำ”

ศิลปินรายหนึ่งถึงกับไปทำภาพล้อเลียนผู้ว่าบนกำแพง พร้อมกับบอกว่า “นี่ก็คือผลงานของ Banksy เหมือนกัน”

นอกจากประเด็นที่ว่าผลงานนี้เป็นของใคร ก็ยังมีประเด็นในเรื่องของการขีดเขียนบนทรัพย์สินสาธารณะ ซึ่งมีนักกราฟฟิตีคนอื่นๆ ที่โดยจับดำเนินคดีมาแล้วหลายรายในประเทศญี่ปุ่น และดูเหมือนว่านี่จะกลายเป็นเรื่อง “2 มาตรฐานได้อย่างชัดเจน”

ซึ่งมีชาวเน็ตบางคนได้จุดประเด็นที่เรื่องของการที่ผู้ว่าเคอิโกะได้ทวิตเรื่องนี้อย่างภาคภูมิใจ แต่ในอีกมุมหนึ่ง พอล ฮาน หนุ่มนักกราฟฟิตีชาวออสเตรเลีย ก็เคยถูกจับในข้อหาพ่นสีกราฟฟิตีบนรถไฟ ซึ่งมีโทษสูงสุดคือการติดคุกนานถึง 3 ปี

แน่นอนว่าภาพผลงานของฮานมันอาจจะดูเกินเลยไปมาก แต่ประเด็นก็คือ “การวาดภาพกราฟฟิตี” บนทรัพย์สินสาธารณะ คือสิ่งผิดกฏหมาย แต่บางคนกลับได้รับการเชิดชู บางคนได้รับการยกย่อง คำถามคือมันเกี่ยวข้องกับ บุคคล ผลงาน หรือความเป็นศิลปะที่สื่อออกมากันแน่ ? ถ้าฮานเป็นคนวาดรูปหนู ทางญี่ปุ่นจะส่งอีเมลไปหาเขาอย่างสุภาพแบบนี้หรือไม่ แล้วถ้า Banksy เกิดเป็นคนวาดกราฟฟิตีบนรถไฟล่ะ ? นี่ยังคงเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบในตอนนี้…

แล้วในมุมมองของตัวคุณล่ะ คิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง ?

ที่มา : | เรียบเรียงโดย เพชรมายา

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ