การขับรถเร็วเกินกว่ากำหนด ถือเป็นปัญหาที่เราสามารถพบได้ในทุก ๆ ประเทศ และสิ่งที่กฏหมายสามารถจัดการกับผู้กระทำผิดได้คือการเสียเงินค่าปรับ แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าค่าปรับของเราดันไม่เท่ากัน เพราะมันกลับขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้่ใช้รถใช้ถนน
ฟินแลนด์ คือหนึ่งในประเทศแรกที่ใช้การคิดค่าปรับในระบบ Day Fine หรือการเสียค่าปรับโดยอ้างอิงกับฐานรายได้ของผู้กระทำผิด โดยมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1921 เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากค่าปรับไม่ได้ตายตัว แต่ฝันแปรไปได้ตามค่าเงินและฐานะของผู้กระทำผิด ซึ่งระบบปรับแบบ Day Fine นี้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพจนหลาย ๆ ประเทศนำระบบนี้ไปใช้บ้าง เช่น อเมริกา สวีเดน และเยอรมนี
คำว่า Day Fine ก็มีความหมายตรงตัวคือเป็น “ค่าปรับแบบวัน” โดยมีระบบการคิดค่าปรับง่าย ๆ 3 ขั้นตอน คือ
1. คุณมีรายได้เท่าไหร่
ศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่า คุณมีรายได้ต่อวันเท่าไหร่ หักรายจ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพแล้วเหลือเท่าไหร่ หากคุณเป็นคนรวย มีรายได้เยอะ ค่าปรับก็จะเยอะตามไปได้
2. ปรับทั้งหมดกี่วัน
หากคุณทำผิดไม่ร้ายแรง จำนวนวันที่ปรับก็จะน้อย หากคุณทำผิดร้ายแรง จำนวนวันที่ปรับก็จะเยอะ โดยความร้ายแรงก็ผันแปรตามความเร็วที่คุณขับ ยิ่งขับเกินกำหนดไปเยอะก็ยิ่งร้ายแรงมากเท่านั้น
3. จำนวนค่าปรับทั้งหมด
ตัวอย่างเช่น A มีรายได้ 1,000 บาทต่อวัน ศาลพิจารณาแล้วว่าค่าต่อวันคือ 500 บาท และ A โดนปรับทั้งหมด 10 วัน แสดงว่า A จะถูกปรับทั้งหมด 5,000 บาท
ในขณะที่ B โดนในข้อหาเดียวกันเป๊ะ ๆ แต่ B มีรายได้ 500 บาทต่อวัน ศาลพิจารณาค่าปรับต่อวันคือ 250 บาท และ B ก็โดนปรับ 10 วัน ดังนั้น B จะโดนปรับเพียง 2,500 บาทเท่านั้น
แน่นอนว่าการคิดค่าปรับด้วยระบบ Fine Day กลายเป็นข้อถกเถียงกันอยู่หลายครั้งว่ามัน “ยุติธรรม” แล้วหรือไม่กับผู้กระทำผิดที่มีฐานะร่ำรวย ซึ่งพวกเขาอาจถูกปรับเงินในมูลค่าที่สูงมากหากทำผิดกฏหมายในข้อหาเดียวกันกับผู้กระทำผิดที่มีรายได้ต่ำ
สมาชิกเว็บไซต์ Tumblr ได้เปิดประเด็นขึ้นมาว่า “ระบบการคิดค่าปรับแบบนี้ทำให้มหาเศรษฐีในฟินแลนด์หลายคนต้องเสียเงินค่าปรับต่อการขับรถเร็วเพียงครั้งเดียว เป็นจำนวนเงินสูงถึง 3 ล้านบาท แต่มันก็ยุติธรรมแล้ว”
“หากใช้มาตรฐานเดียวกัน สำหรับคนจนการปรับเงิน 10,000 บาทอาจทำให้พวกเขาอดอยากไปทั้งเดือน แต่สำหรับคนรวย มันแทบไม่มีผลกระทบอะไรกับพวกเขาเลย แล้วคุณคิดว่ามันจะทำให้พวกเขาเข็ดหลาบอย่างงั้นหรือ ?”
“การคิดค่าปรับโดยคำนึงถึงรายได้จะทำให้คนจนอยู่รอดได้ และทำให้คนรวยเกรงกลัวกฏหมายได้เช่นเดียวกับคนจน นี่คือสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรม”
และด้วยระบบการปรับเงินแบบ Day Fine นี้ทำให้เกิดการเสียค่าปรับครั้งยิ่งใหญ่มากมาย ย้อนกลับไปเมื่อปี 2002 Anssi Vanjoki อดีตผู้อำนวยการของบริษัทโนเกียถูกจับได้ว่าเขาขับมอเตอร์ไซค์โดยใช้ความเร็ว 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเขตกำหนดความเร็วที่ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลให้เขาต้องเสียค่าปรับเป็นเงินสูงถึง 103,600 เหรียญ หรือประมาณ 3.1 ล้านบาท
เมื่อไม่นานมานี้ในปี 2015 Reima Kuisla นักธุรกิจชาวฟินแลนด์ต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินสูงถึง 62,000 เหรียญ หรือประมาณ 1.8 ล้านบาท จากการขับรถเร็วเกินกำหนดเช่นกัน
ส่วนการปรับเงินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ถูกกินเนสบุ๊คบันทึกเอาไว้ เกิดขึ้นกับนักธุรกิจชาวสวิสคนหนึ่งที่ขับรถ Ferrari Testarossa ของเขาด้วยความเร็ว 136 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเขตจำกัดความเร็วแค่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในย่านเซนต์กัลเลน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่งผลให้เขาถูกปรับเงินเป็นจำนวน 290,000 เหรียญ หรือ 8.7 ล้านบาท ซึ่งอีกเหตุผลที่ทำให้ค่าปรับของเขาสูงขนาดนี้เนื่องจากเขากระทำความผิดซ้ำนั่นเอง
ในขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วยกับกฏหมายนี้ก็มองว่า นี่ไม่ใช่ความยุติธรรมที่แท้จริง เนื่องจากคนที่กระทำผิดเท่ากันแต่กลับเสียค่าปรับไม่เท่ากัน ซึ่งกฏหมายเองได้ผลักภาระมายังผู้กระทำผิดที่มีรายได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง
สำหรับประเทศไทยเองก็มีแนวคิดที่จะนำการคิดค่าปรับแบบ Day Fine มาใช้ แล้วคุณล่ะ คิดว่าการคิดค่าปรับแบบนี้ยุติธรรมแล้วหรือไม่ ?
ที่มา : boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ