สัญญากับปีศาจ ประวัติศาสตร์ของคนขายวิญญาณเพื่อแลกกับพรสวรรค์เหนือมนุษย์

การทำสัญญากับปีศาจปรากฏขึ้นในวัฒนธรรมความเชื่อของชาวตะวันตกมาอย่างยาวนาน แต่มันถูกพบจริงๆ จังๆ ครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 โดยเป็นเรื่องราวของชายที่ชื่อ โจฮันน์ เฟาสต์ นักเล่นแร่แปรธาตุและนักมายากลชาวเยอรมัน ที่ถูกล่าวหาว่ามีการทำสัญญากับปีศาจ “เมฟิสโตเฟลิส” (Mephistopheles) โดยการขายวิญญาณของเขาเพื่อแลกกับการทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง

เรื่องราวของเฟาสต์โด่งดังขึ้นหลังจากที่ถูกนำไปเขียนเป็นหนังสือที่ชื่อ The Tragical History of the Life and Death of Doctor Faustus โดย คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษในยุคนั้น

จริง ๆ แล้วการทำสัญญากับปีศาจเกิดขึ้นมาจากความเชื่อดั้งเดิมของแม่มดในชาวคริสต์ สัญญาระหว่างมนุษย์ที่เรียกตนเองว่า “ผู้ขันต่อ” กับฝ่าย “ซาตาน” หรือปีศาจอื่น ๆ ฝ่ายมนุษย์จะต้องมอบวิญญาณของตนให้กับปีศาจ เพื่อแลกกับข้อตกลงบางอย่างที่พวกเขาต้องการ เช่น ความอ่อนเยาว์ ความร่ำรวย ความรู้ อำนาจวาสนา หรือแม้แต่ความสามารถพิเศษบางอย่าง

แต่สำหรับบางคน การทำสัญญากับปีศาจเปรียบเสมือนการยกให้ปีศาจเป็นนายของตัวเอง โดยไม่ได้ต้องการสิ่งแลกเปลี่ยนใด ๆ ซึ่งเรื่องราวการทำสัญญากับปีศาจของแต่ละคนก็มักจะแตกต่างกันไป บางคนก็ต้องจบชีวิตลงเพราะการมาทวงคืนวิญญาณของปีศาจ แต่บางคนก็อาศัยอุบายที่แยบยลสามารถเอาชนะปีศาจไปได้

ร้อยปีต่อมา ในปี 1713 ความเชื่อเรื่องการทำสัญญากับปีศาจถูกเชื่อมโยงไปเกี่ยวกับ “ดนตรี” โดยเริ่มตั้งแต่ จูเซปเป ทาร์ทินี นักไวโอลินและนักแต่งเพลงซึ่งเคยเป็นทหารผ่านศึก เชื่อว่าเพลงที่เขาแต่งนั้น ได้แรงบันดาลใจมาจากปิศาจที่ปรากฏในความฝันของเขา

โดยในความฝันครั้งนั้น ทาร์ทินี ได้เสนอวิญญาณของเขาพร้อมกับไวโอลินให้กับปีศาจตนหนึ่ง ซึ่งปีศาจตนนั้นได้นำไวโอลินของเขาไปบรรเลงเป็นเพลงที่ไพเราะสวยงามในแบบที่เขาไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน ทันทีที่เขาตื่นขึ้นมาก็ได้เขียนโน๊ตเพลงนั้นขึ้นมาทันที โดยให้ชื่อเพลงว่า Violin Sonata in G หรือเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ Devil’s Trill Sonata ซึ่งเป็นเพลงที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างมาก

อีกหนึ่งศตวรรษต่อมา นิคโคโล ปากานินี นักไวโอลินชาวอิตาลีที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากที่สุดแห่งยุค เขาเริ่มเล่นแมนโดลินตั้งแต่ 5 ปี เริ่มเล่นไวโอลินตอน 7 ปี และมีพรสวรรค์สูงจนได้ออกแสดงจริงตอนอายุ 12 ปี ด้วยความเก่งกาจของเขาประกอบกับรูปลักษณ์ภายนอกที่เขามีร่างกายผอมสูง นิ้วยาว ผิวสีซีด นัยน์ตาเหลือง จึงทำให้ผู้คนเริ่มคิดว่า พรสวรรค์ของเขาเกิดขึ้นจากการที่เขาทำสัญญากับปีศาจ

บางรายงานก็ระบุว่า ผู้ชมการแสดงของเขาต้องทำสัญลักษณ์ไม้กางเขนเพื่อป้องกันไม่ให้ปีศาจมานำตัวเขาไป รวมถึงมีพยานบางคนระบุว่า เขาสามารถเล่นไวโอลินต่อไปได้ถึงแม้สายจะขาดไปแล้วก็ตาม แถมร่างกายของเขาก็ทำท่าทางลักษณะแปลก ๆ อยู่ตลอดเวลา และมีพยานคนหนึ่งที่อ้างว่า เขาเห็นปีศาจที่มาช่วยปากานินีเล่นไวโอลิน ในระหว่างที่เขาเล่นคอนเสิร์ตในกรุงเวียนนา

ในช่วงทศวรรษที่ 1920-1930 ทอมมี จอห์นสัน และ โรเบิร์ต จอห์นสัน สองนักดนตรีเพลงบลูส์ ถูกกล่าวหาว่าพวกเขาทั้งคู่ได้ทำสัญญากับปีศาจ เรื่องราวของทอมมี จอห์นสัน เกิดขึ้นในคืนหนึ่ง ในขณะที่เขาเดินไปยังทางแยกที่เรียกว่า Delta Crossroad ในมิสซิสซิปปี ก่อนเที่ยงคืน เขาเล่นกีตาร์จนกระทั่งมีชายผิวดำรูปร่างสูงใหญ่ปรากฏตัวต่อหน้าเขา ชายลึกลับหยิบกีตาร์ของทอมมีไปและปรับแต่งเสียงให้ใหม่ หลังจากนั้น ทอมมี จอห์นสัน ก็กลายเป็นชายที่เล่นกีตาร์ได้แบบที่ไม่มีใครบนโลกสามมารถทำได้

โรเบิร์ต จอห์นสัน ถึงแม้เขาจะไม่ได้เป็นญาติพี่น้องกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือเขาเป็นหนึ่งในมือกีตาร์ที่โด่งดังที่สุดแห่งยุค แต่เรื่องราวของเขาเริ่มมาจากการที่เขาหัดเล่นกีตาร์ตั้งแต่ยังหนุ่ม แต่เขาไม่มีพรสวรรค์ใด ๆ เลย เขาเดินทางออกจากบ้านเกิดและหายตัวไป จนกระทั่งเขากลับมาอีกครั้งพร้อมกับพรสวรรค์ในการเล่นกีตาร์ที่น่าเหลือเชื่อ ตำนานมือกีตาร์อย่าง คีธ ริชาร์ด ได้ยินการเล่นกีตาร์ของ โรเบิร์ต จอห์นสัน ครั้งแรก เขาถึงกับคิดว่ามันเป็นเพลงที่เกิดจากนักกีตาร์สองคน แล้วเขาทำได้อย่างไร มีหลายคนเชื่อว่า โรเบิร์ตขายวิญญาณให้กับซาตานเพื่อทำสัญญาปีศาจขึ้นเหมือนกับที่ ทอมที่ จอห์นสัน ทำนั่นเอง

การเสียชีวิตของทั้งสองคนอาจแตกต่างกัน สัญญาปีศาจของ โรเบิร์ต อาจสั้นไปเสียหน่อย เพราะเขาเสียชีวิตตั้งแต่อายุ 27 ปี จากการถูกวางยาพิษ ส่วนทอมมี เสียชีวิตอาการหัวใจล้มเหลวตอนอายุ 60 ปี หลังจากเล่นคอนเสิร์ตในงานปาร์ตี้แห่งหนึ่ง

และนี่ก็เป็นเรื่องราวความเชื่อการทำ “สัญญากับปีศาจ” ที่เคยแพร่หลายอย่างมากในชาติตะวันตก แต่ปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้ก็ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา มีเพียงแต่ผู้คนบางกลุ่มเท่านั้น โดยเฉพาะผู้ที่นับถือในลัทธิซาตาน พวกเขายังคงยอมแลกวิญญาณของตนเอง เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่พวกเขาต้องการอยู่

ที่มา : Polyphonic | เรียบเรียงโดย เพชรมายา