รถไฟเหาะที่เร่งความเร็วได้เร็วที่สุดในโลกถูกปิดเพราะทำคนกระดูกร้าว

การเล่นรถไฟเหาะตีลังกาถือเป็นความท้าทายของผู้คนจำนวนมากที่ไปเที่ยวสวนสนุก แต่นอกจากความหวาดเสียวตื่นเต้นที่เราต้องเผชิญล่ะก็ มันอาจส่งผลเสียต่อสุุขภาพร่างกายของเราได้อย่างคาดไม่ถึงมาก่อน

Do-Dodonpa คือรถไฟเหาะตีลังกาที่ตั้งอยู่ในสวนสนุก Fuji-Q Highland ทีตั้งอยู่ในจังหวัดยามานาชิ ทางตะวันตกของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมันถูกเปิดให้บริการมานานกว่า 20 ปีแล้ว

รถไฟเหาะตีลังกา Do-Dodonpa มีชื่อเสียงในเรื่องของการเร่งความเร็วจาก 0 ถึง 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมงภายในระยะเวลาแค่ 1.59 วินาทีเท่านั้น จนมันเป็นรถไฟเหาะที่สามารถเร่งความเร็วได้เร็วที่สุดในโลก

แต่ถึงแม้มันจะมีชื่อเสียงด้านความเร็ว แต่ก็ไม่เคยมีรายงานเกี่ยวกับผู้เล่นที่ได้รับบาดเจ็บเลย จนกระทั่งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วเริ่มมีรายงานเกี่ยวกับผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกจากการขึ้นรถไฟเหาะ นับตั้งแต่นั้นมาก็มีรายงานผู้บาดเจ็บถึง 6 ราย โดยในจำนวนนี้มี 4 รายทีกระดูกหลักหรือคอร้าว

ก่อนหน้านี้ Do-Dodonpa มีประวัติที่ใสสะอาดมาตลอดจนกระทั่งในปี 2017 เจ้าหน้าที่ของสวนสนุกได้ตัดสินใจทำให้การนั่งรถไฟเหาะตื่นเต้นมากขึ้นด้วยการเพิ่มอัตราความเร็วสูงสุดจาก 172 กม. เป็น 180 กม.ต่อชั่วโมง แต่ทุกอย่างก็เป็นปกติดีจนกระทั่งเดือนธันวาคม 2020 จึงเริ่มมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นครั้งแรก

ในเดือนสิงหาคมนี้ Fuji-Q Highland Park ได้ตัดสินใจระงับการให้บริการรถไฟเหาะตีลังกาของพวกเขาเพื่อตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้น ทางบริษัท Sansei Technologies ที่เป็นผู้ผลิตรถไฟเหาะรุ่นนี้ก็ไม่สามารถหาสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ พวกเขาทำได้แค่ออกมาขอโทษผู้ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น

นาโอะยะ มิยาซาโตะ ศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยนิฮอนกล่าวว่า การออกแบบรถไฟเหาะจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐบาลอนุมัติ ดังนั้นจึงไม่ควรมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้นได้

มิยาซาโตะคาดว่าอาการบาดเจ็บที่กระดูกอาจเกี่ยวข้องกับการเร่งความเร็วของรถไฟเหาะ ผู้เล่นรถไฟเหาะจะต้องเจอกับแรง G ที่มากเป็น 3 เท่าของนักบินอวกาศที่อยู่ในจรวดที่ถูกปล่อยขึ้นไปบนอวกาศ แต่นั่นก็เป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น เพราะถ้ามันเป็นเพราะแรง G ก็ควรมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บมาตั้งนานแล้ว

อีกทฤษฎีของมิยาซาโตะก็คือ ตำแหน่งการนั่งของผู้เล่นรถไฟเหาะคนนั้นส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บ เนื่องจาก Do-Dodonpa กำหนดให้ผู้เล่นต้องเอนหลังพิงเบาะและสวมสายรัดไหล่ โดยเว้นช่องว่างระหว่างหลังและพนักพิงให้น้อยที่สุด ซึ่งจากรายงานระบุว่าหนึ่งในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บยอมรับว่าเธออาจเอนไปข้างหน้าในระหว่างที่รถไฟเร่งความเร็ว

“หากพวกดเขาตรวจพบว่ารถไฟเหาะไม่ได้มีอันตรายจริง แต่เป็นเพราะผู้เล่นที่นั่งผิดท่า พนักงานสวนสนุกจะต้องเป็นฝ่ายปรับปรุงและตรวจสอบวิธีการนั่งของผู้เล่นให้เรียบร้อย” มิยาซาโตะกล่าว

ตอนนี้ Do-Dodonpa ยังคงปิดอยู่เพื่อทำการตรวจสอบให้แน่ใจว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไรกันแน่ ซึ่งคาดว่ามันน่าจะกลับมาเปิดได้ในอีกไม่นานหลังจากนี้ ซึ่งมีสถิตินี่น่าสนใจก็คือ โอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บจากการนั่งรถไฟเหาะตีลังกานี้มีเพียงแค่ 1 ใน 15.5 ล้านคนเท่านั้น

ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ