โลกนี้เต็มไปด้วยสถานที่ ๆ น่าสนใจมากมาย และหนึ่งในนั้นก็ต้องมี เกาะเซนติเนลเหนือ ที่ตอนนี้หลาย ๆ คนคงรู้จักกันดีว่ามันคือ “เกาะต้องห้าม” ที่ทางรัฐบาลอินเดียออกกฏไม่ให้ใครก็ตามเข้าใกล้บริเวณเกาะแห่งนี้เด็ดขาด เพราะบนเกาะแห่งนี้มีชาวเซนติเนลที่อาศัยอยู่บนเกาะอย่างโดดเดี่ยวมานานกว่า 60,000 ปี พวกเขาถูกเชื่อว่าเป็นทายาทสายตรงของมนุษย์ในยุคแรก ๆ จากทวีปแอฟริกา และที่สำคัญพวกเขาไม่เคยติดต่อกับโลกภายนอกเลย ถึงแม้จะมีผู้คนพยายามเข้าไปในเกาะแห่งนี้ แต่ทุกรายก็ขับไล่ด้วยธนูของพวกเขา และบางรายถึงกับไม่รอดกลับมาก็มี อย่างเช่นเรื่องราวของนักเผยแผ่ศาสนาหนุ่มที่ต้องพบกับจุดจบอันแสนเศร้า หลังพยายามเข้าไปบนเกาะแห่งนี้เพียงลำพัง
แต่หากเราย้อนกลับไปในปี 1991 มีผู้หญิงคนหนึ่งทำสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้มาก่อน เพราะเธอสามารถเข้าถึงชาวเซนติเนลได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
มาดูมาลา จัตโตปาธิไย นักเขียนสาวชาวอินเดียผู้ที่นำคณะเดินทางของเธอเดินทางไปเยือนยังเกาะเซนติเนล โดยมีเป้าหมายหลักคือการเปิดเผยชีวิตของชนเผ่าที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวและอันตรายที่สุดในโลกว่าเป็นอย่างไร
หนึ่งในบทสัมภาษณ์ของเธอในภายหลังระบุว่า “ตลอด 6 ปีที่ฉันได้ทำการวิจัยกับชนเผ่าในอันดามันกลุ่มนี้ พวกเขาไม่เคยเลยที่จะก้าวร้าวใส่ฉัน พวกเขาอาจล้าหลังในด้านเทคโนโลยี แต่ในทางสังคมพวกเขากลับล้ำหน้าเราไปแล้ว”
#ชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนหมู่เกาะอันดามันในมหาสมุทรอินเดีย
พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชาวอันดามัน ซึ่งนั่นรวมถึงชนเผ่าอื่น ๆ อย่าง ออนเก, ชอมเพน และจารวา ถึงแม้ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในบริเวณเกาะที่ไม่ห่างกันมาก แต่การสื่อสารกับโลกในสมัยใหม่กลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่นชนเผ่าจารวา ที่รู้จักกันดีว่าคือหนึ่งในชนเผ่าที่มีอารยธรรมมากที่สุด ส่วนชนเผ่าเซนติเนลเองถูกจัดให้เป็นชนเผ่าที่โดดเดี่ยวและอันตรายที่สุด
ตั้งแต่ที่ มาดูมาลา อายุได้ 12 ปี เธอตัดสินใจที่จะไปพบชนเผ่าเหล่านี้สักครั้งหนึ่งในชีวิต และหลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา เธอเข้าศึกษาต่อในสาขามานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยโกลกาตา ซึ่งถือเป็นใบเบิกทางไปสู่การเดินทางไปหาชนเผ่าออนเก หนึ่งในชนเผ่าบนหมู่เกาะอันดามัน
#มาดูมาลาคือหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสติดต่อกับชาวเซนติเนล
หนึ่งในเคล็ดลับที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จก็คือ “มะพร้าว” ทันทีที่เรือของเธอไปถึงอาณาเขตของชาวเซนติเนล ทุกคนในทีมของเธอเริ่มโยนมะพร้าวออกไปเพื่อแสดงว่าพวกเธอมาอย่างสันติ มันใช้เวลาไม่นานมากที่ชาวเซนติเนลเข้ามาใกล้และเริ่มเก็บมะพร้าวที่อยู่ในน้ำ
หลังจากนั้นมาดูมาลาได้โยนมะพร้าวให้ชนเผ่ามากขึ้นจนเธอสามารถลงไปอยู่ในน้ำกับชนเผ่าได้
นับจนถึงปัจจุบันนี้ เธอคือหนึ่งในไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จในการติดต่อกับชาวเซนติเนล หลายคนเชื่อว่าความเป็นผู้หญิงของเธอเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ
หลังจากนั้นไม่นานมาดูมาลาได้เดินทางกลับไปหาชาวเซนติเนลอีกครั้ง และครั้งนี้พวกเขาดูกระตือรือร้นมากขึ้น บางคนก็ถึงกับปีนขึ้นมาบนเรือเพื่อเก็บมะพร้าวเลยก็มี
#ชนเผ่าที่มาดูมาลาได้ใกล้ชิดมากที่สุดก็คือชาวจารวา
ในปี 1991 เธอคือผู้หญิงคนแรกจากโลกภายนอกที่มีโอกาสเดินทางไปหาชนเผ่าจารวา และเพื่อที่ไม่ให้ชาวจารวาต้องหวาดกลัวในครั้งแรกที่พบกัน เธอเพียงแค่ยืนอยู่บนเรือเท่านั้น แต่หลังจากที่ผู้หญิงจากชนเผ่าเห็นมาดูมาลา พวกเธอก็ตะโกนภาษาถิ่นที่แปลได้ว่า “เพื่อนมาที่นี่”
ชนเผ่าบางคนเริ่มเต้นรำเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเธอรู้สึกดีที่เห็นผู้หญิงอยู่ภายในทีม หลังจากนั้นชนเผ่าสาวก็เข้ามาใกล้เธอ พวกเธอเริ่มตรวจสอบผิวหนังและผมของเธอ และเพื่อแสดงความเป็นมิตร มาดูมาลาได้แสดงท่าทีเขินอายจนทำให้ชนเผ่ารู้สึกดีกับเธอเอามาก ๆ
ชาวจารวาเป็นหนึ่งในชนผ่าที่เป็นมิตรที่สุด พวกผู้หญิงยอมรับมาดูมาลาอย่างรวดเร็วหรือแม้แต่ปล่อยให้เธออุ้มเด็ก ๆ และช่วยเหลืองานบางอย่างได้ เธอเป็นนักมานุษยวิทยาเพียงคนเดียวที่ได้รับเชิญให้เข้าไปในกระท่อมของชนเผ่าหรือแม้แต่ได้รับการแบ่งปันอาหารให้ และมาดูมาลายังกลายเป็นหมอของชนเผ่าที่คอยช่วยรักษาอาการบาดเจ็บให้กับพวกเขาอีกด้วย
แม้ว่าผลงานของมาดูมาลาจะดูน่าทึ่ง แต่เธอไม่เคยได้รับการยกย่องใด ๆ เพราะปัจจุบันมาดูมาลาเองต้องนั่งทำงานด้านเอกสารให้กับทางรัฐบาล และน้อยคนจะรู้ความจริงที่ว่า เธอเป็นเพียงคนไม่กี่คนจากโลกภายนอกที่เคยติดต่อกับชนเผ่าที่โดดเดี่ยวเหล่านี้อย่างเป็นมิตร โดยที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน
ที่มา : boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ