สาวจีนเปิดบริการสร้าง ‘สุสานแก็ดเจ็ต” เพื่อรักษาความทรงจำของแก็ดเจ็ตเก่าหรือพังแล้ว

เมื่อคนที่รักจากไป ในบางพิธีกรรมเราใช้วิธีการฝังพวกเขาไว้ในสุสาน และเราสามารถระลึกถึงพวกเขาได้ด้วยการไปเยี่ยมพวกเขาที่นั่น แต่ถ้าเกิดเป็นสิ่งของที่หมดอายุหรือเสียหายจนใช้การไม่ได้ล่ะ เราจะเก็บพวกมันเอาไว้แบบไหน หรือก็แค่ทิ้งไปกันแน่

นี่คือเรื่องราวของ หลิน สี หญิงสาวชาวจีนจากเมืองเหวยฟาง มณฑลซานตง ได้เริ่มต้นธุรกิจที่ไม่เหมือนใครนั่นคือ ‘สุสานแก็ดเจ็ต’ ในปี 2019 โดยเธอเคยไปเรียนที่อังกฤษและได้มีโอกาสเรียนรู้การสร้างงานศิลปะจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เธอพบว่ามันน่าสนใจมากจนสามารถนำมาต่อยอดได้

วันหนึ่ง เธอถามตัวเองว่า “ฉันมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่ามากมายรอบตัว ทำไมฉันไม่เปลี่ยนมันให้กลายเป็นงานศิลปะล่ะ”

หลังจากฝึกฝนทักษะด้วยตัวเองมาพักใหญ่ หลินก็เริ่มโฆษณาบริการของเธอทางออนไลน์โดยใช้สโลแกนว่า “อย่าทิ้งมือถือเครื่องเก่าของคุณไป ให้ฉันออกแบบใหม่ให้คุณเถอะ!”

เธอโพสต์บริการของเธอไปพร้อมกับตัวอย่างผลงานของเธออีกนิดหน่ยอ และแค่เพียงไม่กี่วัน เธอก็ได้รับออร์เดอร์มากกว่า 200 ออร์เดอร์ ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งเธอใช้เวลานานกว่าครึ่งปีกว่าจะทำสำเร็จให้ครบทุกเครื่อง

ในตอนแรก ผู้ที่มาใช้บริการกับเธอมักขอให้แยกชิ้นส่วนมือถือเก่าหายาก เช่น Motorola รุ่นแรกจากปี 1970, Nokia 3650, Vertu หายากมูลค่านับล้าน, HTC G1 และอื่น ๆ แต่เมื่อมีคนรู้จักเธอมากขึ้น ก็มีผโทรศัพท์ทั่วไปเริ่มเข้ามา

ปีที่แล้ว มีชายหนุ่มคนหนึ่งมาหาเธอพร้อมกับมือถือเครื่องเก่าในปี 2014 ซึ่งใช้งานไม่ได้แล้ว แต่เขารู้สึกผูกพันกับมันมาก ความทรงจำที่ผูกติดอยู่กับสมาร์ตโฟนเครื่องเก่านั้นดูยากจะลืมเลือน และเขาไม่สามารถทิ้งมันไปได้ง่าย ๆ ดังนั้นเขาจึงขอให้หลินสร้างสรรค์ผลงานที่เขาจะได้เก็บมันไว้เป็นของที่ระลึกตลอดไป

งานศิลปะของหลินถูกเรียกว่าเป็น ‘สุนทรียภาพทางไซเบอร์’ โดยมีการจัดเรียงส่วนประกอบใหม่บนผืนผ้าใบที่ใส่กรอบ เช่นเดียวกับการสร้างผลงานศิลปะอื่น ๆ ซึ่งต้องมีทักษะฝีมือทั้งการรื้อและการติดมันลงไป ซึ่งต้องใช้ความอดทนสูง

จริง ๆ แล้ว หลินเป็นเพียงหนึ่งในหลายร้อยคนที่เชี่ยวชาญด้านการทำศิลปะด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่นนี้ โดยมีช่างฝีมืออีกรายที่อ้างว่า เขาทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน เพื่อพยายามทำให้ทันออร์เดอร์ที่เข้ามาเรื่อย ๆ และสามารถทำรายได้ที่สูงถึง 1 ล้านหยวน หรือประมาณ 5.2 ล้านบาทต่อปี

ที่มา: odditycentral