ทำไมคดีโจรกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในแคนาดา ถึงเป็นแค่การขโมยน้ำเชื่อม

ถ้าคุณเคยชมภาพยนตร์แนวโจรกรรมมาแล้วมากมาย แทบทุกเรื่องล้วนแต่เป็นการปล้นเงินหรือทองคำธนาคาร ขโมยเพชรจากมหาเศรษฐีหรืองานศิลปะที่ล้ำค่าจากพิพิธภัณฑ์ แต่คุณอาจไม่รู้ว่าในชีวิตจริงของเรายังมีการโจรกรรมครั้งใหญ่ที่น่าสนใจครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในแคนาดา และมันไม่ใช่การขโมยสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด แต่มันคือการขโมย “น้ำเชื่อม” ที่มีมูลมหาศาล

เหตุการณ์นี้มีชื่อว่า Great Canadian Maple Syrup Heist หรือ “การขโมยน้ำเชื่อมเมเปิลแห่งศตวรรษ” ที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2011 ถึง 2012 คุณอาจสงสัยว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้นถึง “2 ปี” เพราะนี่ไม่ใช่การขโมยแค่ครั้งเดียว แต่มันคือการ “ค่อย ๆ ขโมย” ที่กินระยะเวลายาวนานเป็นปี

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในปี 1966 ในขณะที่กลุ่มผู้ค้าน้ำเชื่อมเมเปิลต่างประสบปัญหาการแข่งขันในกันอย่างหนัก การผลิตน้ำเชื่อมที่เกินความต้องการของแต่ละเจ้าทำให้ผู้ค้าต้องมาแข่งขันกันด้านราคา จนอุตสาหกรรมค้าน้ำเชื่อมตกต่ำอย่างหนัก ทุกฝ่ายจึงหันมาจับมือกันเพื่อก่อตั้งสมาพันธ์ผู้ผลิตน้ำเชื่อมเมเปิลในควิเบก หรือ FPAQ

FPAQ ถูกก่อตั้งมาเพื่อเป็นกำหนดโควตาการขายน้ำเชื่อมของผู้ผลิตแต่ละรายให้มีความเท่าเทียมกัน รวมถึงการควบคุมปริมาณการขายเพื่อให้สมาพันธ์สามารถควบคุมราคาได้ โดยน้ำเชื่อมทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ในโกดังสินค้าหลายแห่งในเมืองควิเบก ซึ่งมันมีจำนวนมหาศาลเพราะ FPAQ ถือเป็นผู้ผลิตน้ำเชื่อมรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 77% ของน้ำเชื่อมทั้งโลก

จนกระทั่งในปี 2011-2012 น้ำเชื่อมเมเปิลกว่า 3,000 ตัน โดยมีมูลค่าสูงถึง 18.7 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 480 ล้านบาท ค่อย ๆ ถูกขโมยออกไปจากโกดังสินค้า โดยมีผู้ต้องสงสัยเป็นคนในโรงงาน

ตามปกติแล้ว น้ำเชื่อมจะถูกเก็บไว้ในถังโลหะสีขาวที่ไม่มีเครื่องหมายใด ๆ และจะถูกตรวจสอบเพียงปีละครั้งเท่านั้น หัวขโมยได้ใช้รถบรรทุกขนถังน้ำเชื่อมที่ถูกเก็บสำรองไปยังกระท่อมที่อยู่ห่างไกล จากนั้นก็ดูดเอาน้ำเชื่อมออก แล้วเติมน้ำเปล่าลงไปในถังแทน จากนั้นก็ขนมันกลับมาที่โรงงาน

ในขณะที่การขโมยน้ำเชื่อมยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ หัวขโมยก็เริ่มย่ามใจมากขึ้น พวกเขาดูดน้ำเชื่อมออกโดยไม่ได้เติมอะไรกลับเข้าไป ส่วนน้ำเชื่อมที่ถูกขโมยก็ถูกขนส่งไปทางใต้และทางตะวันออกของเมืองควิเบก โดยมันถูกลักลอบค้าขายในกลุ่มเล็ก ๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อลดความน่าสงสัย โดยทั่วไปแล้วพวกเขาจะขายต่อไปให้กับผู้จัดจำหน่ายน้ำเชื่อมอย่างถูกกฎหมายที่ไม่ทราบที่มา

จนกระทั่งฤดูใบไม้ร่วงปี 2012 เจ้าหน้าที่ตรวจสินค้าของ FPAQ ได้ไปตรวจน้ำเชื่อมในโกดังประจำปี เขาปีนขึ้นไปบนถังและเกือบพลัดตกลงมาเพราะถังมีน้ำหนักเบากว่าที่เขาคาดเอาไว้ จริง ๆ แล้วถังน้ำเชื่อมควรจะมีน้ำหนัก 270 กิโลกรัม แต่ปรากฎว่าถังเหล่านั้นกลับกลายเป็นถังเปล่า

จากนั้นเขาเริ่มสังเกตว่าถังน้ำเชื่อมหลายใบมีสนิมขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วถังบรรจุน้ำเชื่อมไม่ควรขึ้นสนิม นั่นจึงนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการสอบสวนในคดีนี้

หลังจากเรื่องถึงตำรวจ น้ำเชื่อมหลายร้อยถังที่ถูกส่งออกไปขายก็ถูกยึดกลับมาได้สำเร็จ โดยรวมแล้วมีถังน้ำเชื่อมที่ถูกขโมยออกไปมากถึง 9,000 ถังด้วยกัน จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2012 ตำรวจก็จับกุมผู้ร่วมขบวนการได้ทั้งหมด 17 คน ที่เกี่ยวข้องกับการโจรกรรมครั้งประวัติศาสตร์นี้

จากการสอบสวนพบว่า ตัวการหลักของแผนการนี้มีทั้งหมด 4 คน คนแรกคือ ริชาร์ด วัลเลียเรส ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าแก๊ง ถูกตัดสินจำคุก 8 ปี พร้อมค่าปรับประมาณ 240 ล้านบาท เขาร่วมมือกับพ่อของตัวเองโดยการเป็นหัวโจกใหญ่ในการขายน้ำเชื่อมในตลาดมืด ซึ่งพ่อของเขาโดนโทษคุกเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น

คนที่ 3 คือ เอเตียง เซนต์-ปิแอร์ ผู้ค้าน้ำเชื่อมจากรัฐนิวบรันสวิก ถูกจำคุก 2 ปีเช่นกัน โดยทั้ง 3 คนนี้คือผู้ค้าน้ำเชื่อมที่ไม่เห็นด้วยกับการที่สมาพันธ์มาตั้งแต่แรก

ส่วนคนที่ 4 คือ เอวิก คารอน เจ้าของโกดังสินค้าที่ถูกตัดสินจำคุก 5 ปี และโดนปรับอีก 30 ล้านบาท

ในขณะที่เรื่องราวนี้โด่งดังไปทั่วโลก และคุณสามารถชมรายละเอียดการโจรกรรมนี้ได้ในสารคดีชุด Dirty Money ของ Netflix ในซีซัน 1 ตอนที่ 5 ที่มีชื่อว่า The Maple Syrup Heist

ที่มา : wikipedia | เรียบเรียงโดย เพชรมายา

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ