จากสุสานโบราณใต้ดินไปจนถึงรถไฟฟ้าใต้ดินในปัจจุบัน มนุษย์มักเดินทางใต้ดินเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่มนุษย์เราเคยอาศัยอยู่ร่วมกันใต้ดินอย่างเป็นจริงเป็นจังหรือไม่

คำตอบคือ ใช่ แต่มันเกิดขึ้นเมื่ออดีตนานมาแล้ว อาศัยเฉพาะในกรณีฉุกเฉินหรือเมื่อไม่มีทางเลือกอื่น อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง
วิลล์ ฮันท์ ผู้เขียนหนังสือ “Underground: A Human History of the Worlds Beneath Our Feet” กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้คือร่างกายของมนุษย์เราไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่ออาศัยอยู่ใต้ดิน ทั้งในด้านชีววิทยา สรีรวิทยา มันไม่ใช่ที่ของเรา แต่ก็มีบางเวลาที่เราต้องหลบหนีไปอยู่ใต้ดิน”

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามนุษย์อาศัยอยู่ใต้พื้นดินชั่วคราวด้วยเหตุผลหลายประการ หากไม่มีวัสดุสร้างบ้าน พวกเขาก็จะขุดบ้านอยู่ใต้ดิน ในสถานที่ที่สภาพอากาศเลวร้าย มนุษย์ลงไปใต้ดินในฤดูร้อนเพื่อให้ร่างกายเย็นขึ้น และลงไปในฤดูหนาวเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น นอกจากนี้ใต้ดินยังเป็นสถานที่ปลอดภัยในการซ่อนตัวจากศัตรู

ตัวอย่างเช่น เมืองใต้ดินที่มีชื่อเสียงของคัปปาโดเกียในประเทศตุรกี คนโบราณสร้างเมืองใต้ดินเพื่อหลบหนีทั้งสภาพอากาศและสงคราม เนื่องจากพื้นที่ตรงนั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ ทำให้โดนโจมตีจากศัตรูอย่างต่อเนื่อง ผู้คนจึงต้องหลบหนีไปอยู่ใต้ดินในเวลาฉุกเฉิน แต่พวกเขาไม่ได้อาศัยอยู่เป็นเวลานาน อาจจะอยู่เพียงสัปดาห์ในแต่ละครั้ง

หนึ่งในเมืองใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในคัปปาโดเกียก็คือ เดอรินกูยู (Derinkuyu) เมืองใต้ดินที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2,700 ถึง 2,800 ปีก่อน และรองรับผู้อาศัยได้ถึง 20,000 คนเลยทีเดียว
จากข้อมูลใน Atlas Obscura นักธรณีพิสิกส์พบว่ามีการค้นพบเมืองใต้ดินอีกที่หนึ่งในภูมิภาคเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีพื้นที่กว่า 5 ล้านตารางฟุต (460,000 ตางรางเมตร) และลึก 371 ฟุต (113 เมตร) และข้อมูลจาก National Geographic ระบุว่าเมืองใต้ดินในแห่งนี้มีขนาดใหญ่กว่าเดอรินกูยูถึง 3 เท่า
เมืองใต้ดินในคัปปาโดเกียถือเป็น “สิ่งมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรม” มีบ่อน้ำที่อยู่ลึกลงไปในระดับน้ำใต้ดิน ภายในอุโมงค์ใต้ดินมีรูที่เจาะขึ้นไปถึงพื้นดินเพื่อทำหน้าที่ระบายอากาศ ในเมืองมีการป้องกันหลายชั้น นอกจากนี้ยังมีประตูทางเข้าเมืองที่ทำจากหินทรงกลมขนาดใหญ่สามารถเปิดปิดได้เพื่อป้องกันผู้บุกรุกจากพื้นดิน

ไม่ใช่บ้านใต้ดินทุกหลังจะซับซ้อนเหมือนเมืองใต้ดินในคัปปาโดเกีย มีผู้คนอาศัยอยู่ในถ้ำตามธรรมชาติและถ้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วย เราสามารถพบถ้ำที่สร้างขึ้นได้ทุกที่ที่มีสภาพทางธรณีวิทยาที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น เนินเขาหินที่สร้างจากหินทัฟฟ์ ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟที่ขุดง่าย “มันเป็นเรื่องธรรมดามาก คุณสามารถพบคนสร้างบ้านถ้ำอยู่ทั่วโลก” วิลล์ ฮันท์กล่าว แม้กระทั่งในยุคสมัยปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งของประชากรในเมืองคูเบอร์ เพดี ประเทศออสเตรเลียอาศัยอยู่ในบ้านใต้ดินที่เรียกว่า “dugouts”

มีคนชายขอบจำนวนมากที่ถูกละเลยอาศัยอยู่ใต้พื้นดินภายใต้โครงสร้างพื้นฐานของโลกสมัยใหม่ ฮันท์กล่าวว่า บางทีอาจะมีคนไร้บ้านมากกว่า 1,000 คนอาศัยอยู่ในอุโมงค์ใต้ถนนในนิวยอร์ก และมีคนจรจัดจำนวนมากที่ยังอาศัยอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินในลาสเวกัส นอกจากนี้ยังมีชุมชนเด็กกำพร้าขนาดใหญ่อาศัยอยู่ใต้ถนนในเมืองบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย

เมื่อมีคนย้ายเข้ามาในเมืองมากขึ้น ผู้คนอาจต้องย้ายไปอยู่ใต้ดิน ประเทศต่าง ๆ เช่น สิงคโปร์ กำลังสำรวจทางเลือกในการสร้างเมืองใต้ดิน ทางด้าน Eun Hee Lee ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมในประเทศมาเลเซียซึ่งศึกษาด้านจิตวิทยาของการอยู่ใต้ดินกล่าวว่า เทคโนโลยีในการสร้างเมืองใต้ดินนั้นมีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ท้าทายคือการโน้มน้าวให้คนย้ายไปอาศัยอยู่ใต้ดิน
Lee กล่าวว่า ในความเป็นจริงยังไม่มีสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการอยู่ใต้ดินส่งผลทางลบต่อจิตใจ ตราบใดที่แสง ขนาดห้อง ความสูงของเพดาน และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ นั้นสอดคล้องกับพื้นที่บนพื้นดิน ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีช่องรับแสง (lightwell) ซึ่งจะช่วยให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาเพื่อเพิ่มความสว่างให้พื้นที่ใต้ดิน สามารถต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นจากการขาดแสงแดด ผู้คนอาจรู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้สามารถจัดการได้ อย่างไรก็ตาม ผู้คนยังไม่ชอบความคิดที่จะอาศัยอยู่ใต้ดิน
ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม Lee คิดว่าผู้คนทั่วโลกจะเริ่มเคลื่อนไหวในไม่ช้า โดยได้รับแรงบันดางใจจากสถานที่ที่ปูทางเอาไว้ เช่น เมือง RÉSO เมืองใต้ดินในเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ที่มีความยาวมากกว่า 20 ไมล์ รวมไปถึงห้างสรรพสินค้า ออฟฟิศ โรงแรม และโรงเรียน เธอเชื่อว่าผู้คนจะย้ายไปอยู่ในดินในไม่ช้า อย่างน้อยภายใน 30 ปี เราจะมีสภาพแวดดล้อมในการทำงานใต้ดินมากขึ้น และมีสถานที่สนุก ๆ ใต้ดินมากขึ้น
ที่มา : livescience | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ