มีความเชื่อมากมายหลากหลายวิธีที่จะทำให้ตัวเราสูงขึ้นตอนเป็นเด็ก แต่คุณคิดหรือไม่ว่าการกระโดดเชือกจะทำให้ตัวเราสูงขึ้นได้
นี่คือเรื่องราวของ หยวนหยวน เด็กหญิงชาวจีนวัย 13 ปีจากเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ที่ถูกแม่บังคับให้กระโดดเชือกวันละ 3,000 ครั้ง โดยแม่ของเธอคิดว่าวิธีนี้จะทำให้ลูกสาวสูงขึ้น
จนกระทั่งวันหนึ่งเด็กหญิงเริ่มบ่นกับแม่ว่าตนเองปวดเข่า แต่แม่ของเธอหาว่าลูกสาวตัวเองขี้เกียจและพยายามให้ลูกสาวของตนเองกระโดดเชือกต่อไป
ในที่สุดร่างกายของเด็กหญิงก็ทนไม่ไหวจนต้องถูกพาไปพบแพทย์ หลังจากทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดก็พบว่าเอ็นสะบ้าหัวเข่าของเด็กหญิงเกิดอักเสบรุนแรง จนหมอนรองกระดูกข้อเข่าฉีกขาด และนั่นทำให้แพทย์สั่งงดทุกอย่างที่เธอทำอยู่ทันที
คุณแม่จากหางโจวกล่าวกับแพทย์ว่า เธอกังวัลว่าลูกสาวของเธอจะไม่สูง ดังนั้นเธอจึงให้ลูกสาวกระโดดเชือกวันละ 1,000 ครั้งทุกวัน เพราะคิดว่าการทำเช่นนี้จะมีส่วนช่วยให้ลูกสาวสูงขึ้น
หยวนหยวนเป็นเด็กหญิงวัย 13 ปี ที่มีความสูง 158 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเกือบ 60 กิโลกรัม ดังนั้นแม่ของเธอจึงคิดว่าการออกกำลังกายคือสิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำให้ลูกสาวของเธอสูงขึ้นและผอมลง แต่ปัญหาคือน้ำหนักตัวที่มากจนเกินไปของลูกสาวได้ส่งผลกับหัวเข่าของเธอจนเกือบพัง
คุณแม่เชื่อว่าตอนที่เธออายุเท่าลูกสาว เธอยังสูงขึ้นได้อีกราว 2 เซนติเมตร ดังนั้นเธอก็เชื่อว่าลูกสาวของเธอเองก็มีโอกาสสูงขึ้นได้อีกเช่นกัน และเธอเคยได้ยินมาว่าการกระโดดเชือกสามารถช่วยให้สูงขึ้นได้
“แม้ว่าประจำเดือนเธอจะมาแล้ว แต่กระดูกของเธอยังไม่โตเต็มที่ เธอยังสามารถสูงขึ้นได้อีกอย่างน้อย 160 เซนติเมตร นอกจากนั้นการออกกำลังกายให้มากขึ้นก็จะช่วยให้เธอลดน้ำหนักได้ ฉันอยากให้เธอสูงขึ้นและผอมลงเพื่อให้เธอดูสวยขึนกว่านี้” ผู้เป็นแม่กล่าว
แม่ของเด็กหญิงรู้สึกว่าเวลาใกล้จะหมดลงไปทุกที แต่เธอยังไม่เห็นว่าลูกสาวตนเองสูงขึ้น ดังนั้นนับตั้งแต่ช่วงวันหยุดฤดูร้อน คุณแม่ได้เพิ่มจำนวนการกระโดดเชือกจากวันละ 1,000 ครั้งเป็น 3,000 ครั้ง แบ่งวันเช้า 1,000 กลางวัน 1,000 และตอนเย็นอีก 1,000 ครั้ง
หลังจาก 3 เดือนผ่านไป การกระโดดเชือกก็เด็กหญิงก็ส่งผลต่อหัวเข่าของเธอ ตอนแรกแม่ของเธอคิดว่าลูกสาวหาข้ออ้างที่จะไม่กระโดดเชือก แต่สุดท้ายเธอก็พาลูกสาวไปหาหมอศัลยกรรมกระดูก และเมื่อทราบว่าลูกสาวเป็นอะไร เธอก็พูดไม่ออกและรู้สึกผิดต่อสิ่งที่เธอให้ลูกสาวทำลงไป
เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แพทย์กล่าวว่าพ่อแม่ที่มีความเชื่อผิด ๆ แบบนี้มีเยอะ โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน และเด็กส่วนใหญ่ที่เกิดปัญหานี้จะอยู่ประมาณชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ถึง 6 โดยจะเกิดกับเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงถึง 4 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากการเล่นกีฬานั่นเอง
ที่มา : stheadline | เรียบเรียงโดย เพชรมายา