บริษัทจีนย้ายออฟฟิศไปพื้นที่ภูเขาที่ห่างไกลเพื่อกดดันพนักงานให้ลาออก

บริษัทเอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่งของจีนกลายเป็นหัวข้อข่าวดัง หลังจากที่ถูกอดีตพนักงานรายหนึ่งออกมาแฉว่า บริษัทนี้ตัดสินใจย้ายออฟฟิศไปยังพื้นที่ภูเขาที่ห่างไกลผู้คน เป็นการกดดันให้พนักงานลาออกเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชย

นายฉาง (นามสมมติ) ได้ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทแห่งนี้แจ้งให้เขากับพนักงานทราบว่า จะต้องเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ในเทือกเขาฉินหลิ่ง ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางนานถึง 2 ชั่วโมง และนั่นเป็นเวลาการเดินทางสำหรับผู้ที่มีรถยนต์ส่วนตัวเท่านั้น

ส่วนใครที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวจะต้องรอรถบัสที่วิ่งประจำทุก ๆ 3 ชั่วโมง และจำเป็นต้องเดินอีก 3 กิโลเมตรผ่านเส้นทางภูเขาเพื่อเข้าถึงออฟฟิศแห่งใหม่นี้

นายฉางกล่าวว่า การนั่งแท็กซี่จากทางรถไฟที่ใกล้ที่สุดจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 60 หยวน หรือประมาณ 300 บาท และทางบริษัทเองก็ไม่มีนโยบายรับผิดชอบค่าเดินทางเหล่านี้

ออฟฟิศแห่งใหม่ไม่ได้แค่อยู่ไกลเท่านั้น แต่ยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานอีกด้วย ทำให้พนักงานหญิงจำเป็นต้องเดินทางไปยังหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุดเพื่อใช้ห้องน้ำสาธารณะ แถมจำนวนสุนัขจรจัดในพื้นที่ดังกล่าวยังมีมากจนเกิดความไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางในเวลากลางคืน

แม้จะมีการร้องเรียนจากพนักงานหลายครั้ง แต่ฝ่ายบริหารก็ปฏิเสธที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว

หลังจากที่การ้องเรียนไม่เป็นผล พนักงานจำนวน 14 จาก 20 คน ก็ตัดสินใจลาออกรวมถึงนายฉาง แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือ แค่เพียง 4 วันต่อมา ทุกคนก็ต้องตกใจเมื่อพบว่า บริษัทตัดสินใจย้ายกลับไปยังมืองซีอาน และกำลังมองหาพนักงานใหม่อย่างเร่งด่วน

พนักงานเหล่านี้จึงกล่าวหาบริษัทว่า การย้ายสถานที่ทำงานแบบนี้ก็เพื่อให้พวกเขาลาออกไปเองโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ

หลังจากเรื่องราวนี้กลายเป็นกระแสในประเทศจีน ทางบริษัทก็ออกมาปฏิเสธ โดยขู่ว่าจะฟ้องร้องอดีตพนักงานรวมหัวกันใส่ร้ายเพื่อทำให้ชื่อเสียงของบริษัทเสียหาย

ตัวแทนของบริษัทได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า “ค่าเช่าพื้นที่ใจกลางย่านธุรกิจสูงมาก และออฟฟิศใหม่ของเราอยู่ระหว่างการปรับปรุง ดังนั้นเราจึงต้องย้ายไปที่นั่นชั่วคราวเป็นเวลา 1 สัปดาห์”

อย่างไรก็ตาม อดีตพนักงานกำลังกล่าวหาบริษัทว่า พวกเขาได้รับแจ้งว่า สถานที่ห่างไกลบนภูเขาแห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทอีกนาน และอาจนานกว่าหนึ่งปีด้วย

ส่วนความเห็นของชาวเน็ตจีนส่วนใหญ่ล้วนแต่เข้าข้างอดีตพนักงาน โดยกล่าวหาว่าบริษัทแห่งนี้ดูไม่จริงใจ หรือแม้แต่ละเมิดกฎหมายแรงงาน โดยระบุว่าการเปลี่ยนสถานที่ทำงานโดยไม่ได้รับความยินยอมจากพนักงานถือเป็นการละเมิดสัญญาจ้าง

ที่มา: scmp