จากนักเคาะประตูสู่นักยิงถั่ว นี่คือนาฬิกาปลุกมนุษย์ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

ย้อนกลับไปในยุครุ่งเรืองของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ ที่เรียกร้องให้คนงานไปถึงที่ทำงานของตนทันทีในยามเช้า มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอจนถึงช่วงทศวรรษ 1930 นั่นจึงทำให้เกิดอาชีพที่เรียกว่า “นักเคาะประตู” (หรือไม่ก็เคาะหน้าต่าง) โดยมีหน้าที่หลัก ๆ คือการเคาะประตูหรือหน้าต่างโดยใช้ไม้ไผ่ยาวที่สามารถขึ้นไปเคาะที่หน้าต่างชั้น 2 ได้

นักเคาะประตูจะได้รับค่าตอบแทนสำหรับความเชี่ยวชาญในการปลุกของพวกเขา บางครั้งนักเคาะประตูไม่ได้รับการว่าจ้างจากคนงาน แต่พวกเขาได้รับการว่าจ้างจากโรงงานหรือธุรกิจในท้องถิ่น เพื่อให้แน่ใจว่าคนงานของพวกเขาจะมาทำงานตรงเวลา

อาชีพดังกล่าวมีความสำคัญในพื้นที่ศูนย์กลางทางธุรกิจ เช่น แมนเชสเตอร์ และการทำเครื่องหมายด้วยชอล์กบนทางเท้าหน้าบ้านที่ต้องถูกปลุกก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทั่วไป

แต่จุดอ่อนที่สุดของการใช้ชอล์กก็คือเรื่องของฝน ซึ่งอาจทำให้งานของนักเคาะประตูมีปัญหา นักเคาะประตูบางส่วนจึงใช้วิธีการติดป้ายบนบ้านของผู้ที่ต้องการให้ปลุกแทน และข้อดีของป้ายเหล่านี้ก็คือ สามารถใส่รายละเอียดต่าง ๆ ลงไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเวลาปลุกหรือแม้แต่ ‘ชื่อ’ ของนักเคาะประตูเพื่อเป็นการโฆษณาบริการของพวกเขาเอง

ปัญหาหลัก ๆ ของนักเคาะประตู (นอกเหนือจากการที่พวกเขาเองต้องตื่นนอนเวลาตีสาม) นั่นก็คือการรับมือกับคนหัวร้อนที่ถูกปลุก บางคนก็ขี้เซา และบางคนก็เมาค้าง พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มีปัญหาในตอนที่ขอใช้บริการตอนแรก

การถือกำเนิดของ ‘นักยิงถั่ว’

อีกปัญหาก็คือ การใช้ไม้ไผ่เคาะหน้าต่างซ้ำไปซ้ำมาสร้างเสียงดังที่น่ารำคาญ ไม่ใช่แค่บ้านหลังที่เธอไปปลุก แต่มันดังไปถึงเพื่อนบ้านข้างกันที่ไม่ต้องการตื่นในตอนเช้า

นั่นทำให้ แมรี สมิธ หนึ่งในนักเคาะประตูตัดสินใจใช้วิธีการใหม่ ๆ อย่างเช่น การเป่าเมล็ดถั่วไปที่หน้าต่างชั้น 2 ของลูกค้าเธอแทน

วิธีการของแมรี สมิธ น่ารำคาญมากพอที่จะทำให้ลูกค้าต้องออกมาเปิดหน้าต่างเพื่อส่งสัญญาณให้เธอหยุด แต่ก็ไม่ได้ดังพอที่จะทำให้เพื่อนบ้านได้ยินเสียงของมัน

อาชีพนักเคาะประตูในยุคดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างสูงสุด เรียกได้ว่าคุณจำเป็นต้องมีนักเคาะประตูมาเพื่อปลุกคุณยามเช้า ส่วนนักเคาะประตูเองก็ต้องจ้างนักเคาะประตูมาปลุกพวกเขาในตอนเช้ามืดเช่นกัน และตำรวจบางคนที่ต้องออกลาดตระเวณในตอนเช้าก็มีรับจ๊อบพิเศษมาเป็นนักเคาะประตูอีกด้วย

ถึงแม้ว่าค่าจ้างของนักเคาะประตูจะเพียงแค่ไม่กี่เพนนีต่อสัปดาห์เท่านั้น แต่ถ้าคุณมีลูกค้าจำนวนมากมันก็สามารถทำเงินให้คุณได้คุ้มค่าไม่น้อย

ถึงแม้จะมียุครุ่งเรือง แต่มันก็อยู่ได้เพียงไม่นาน เพราะอาชีพนักเคาะประตูค่อย ๆ หายไปในช่วงทศวรรษ 1940 และทศวรรษ 1950 แม้ว่าจะยังดำเนินต่อไปในกลุ่มอุตสาหกรรมของอังกฤษจนถึงต้นทศวรรษ 1970 ก็ตาม

ที่มา: insh