ย้อนกลับไปในสมัยทศวรรษที่ 1880-1930 การแสดงสลับฉากหรือละครสั้นๆ ที่สลับด้วยเพลงและการเต้นรำ ที่ถูกเรียกว่า “เวาเดวิลล์” (Vaudeville) ถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับชาวอเมริกัน โดยละครประเภทนี้จะประกอบไปด้วยการแสดงสั้นๆ (ยาวประมาณ 6-15 นาที) ที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันไป การแสดงส่วนใหญ่มักจะมีมายากลและการแสดงจากสัตว์รวมอยู่ด้วย และในทุกหัวเมืองใหญ่ ณ ขณะนั้น ก็มักจะมีโรงละครเวาเดวิลล์ประจำเมือง โดยที่นิวยอร์กโรงละครเวาเดวิลด์ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ แฮมเมอร์สไตน์ (Hammerstein’s)
ที่มาของโรงละครแห่งนี้เกิดมาจาก ออสการ์ แฮมเมอร์สไตน์ ชาวยิวอพยพมาจากสก็อตแลนด์ ผู้บุกเบิกการสร้างโรงละครและโอเปร่าในนิวยอร์ก ได้ก่อตั้ง “โรงละครวิคตอเรีย” ขึ้นมาในปี 1899 ต่อมาโรงละคร พาราไดซ์ รูฟ การ์เดน (Paradise Roof Garden) ได้ถูกสร้างขึ้นชั้นบนของโรงละครวิคตอเรีย และถูกบริหารงานโดย วิลลี แฮมเมอร์สไตน์ ลูกชายของออสการ์นั่นเอง จนโรงละครทั้ง 2 แห่งก็กลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อ โรงละครแฮมเมอร์สไตน์ รูฟ การ์เดน หรือเรียกสั้นๆ ว่า โรงละครแฮมเมอร์สไตน์
หนึ่งในการแสดงที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด เริ่มต้นขึ้นในฤดูร้อนปี 1907 เมื่อนักแสดงสาวคนหนึ่งที่มีฉายาว่า โซเบอร์ ซู (Sober Sue) หรือ “ซูผู้เงียบขรึม” ปรากฏตัวขึ้นบนเวทีการแสดง เธอถูกเรียกว่า “เด็กหญิงผู้ไม่เคยหัวเราะ” โดยทางผู้จัดการแสดงได้เสนอรางวัลให้สูงถึง 1,000 เหรียญ สำหรับใครก็ตามที่สามารถทำให้เธอแค่เผยอยิ้มได้
ครั้งแรก มีผู้ที่เข้ามาชมการแสดงขอท้าพิสูจน์ พวกเขาขึ้นมาบนเวทีและทำใบหน้าตลกโปกฮารวมถึงพยายามเล่าเรื่องตลกที่ฮาที่สุด แต่ทุกคนก็ล้มเหลว ไม่มีใครทำให้ซูยิ้มได้เลย เธอยังคงมีใบหน้าที่เคร่งขรึมอยู่เหมือนเดิม
เมื่อความโด่งดังของซูเริ่มมากขึ้น ก็มีนักแสดงตลกอาชีพมากมายเข้ามาท้าทายเงินรางวัลนี้ด้วยการเล่นมุกตลกที่สุดที่พวกเขามี แต่ละคนก็งัดไม้เด็ดออกมาที่สร้างความขบขันไปทั่วทั้งเวที ยกเว้นเพียงแค่ซูเพียงคนเดียวเท่านั้น เธอไม่เคยหัวเราะหรือยิ้มแม้แต่นิดเดียว สิ่งที่ทำให้ผู้จัดได้กำไรอย่างมากก็คือ ผู้ชมต่างได้ชมการแสดงจากนักแสดงตลกมืออาชีพนั่นเอง
แล้วซูล่ะ เธอได้ค่าจ้างตอบแทนเท่าไหร่ ? ณ เวลานั้น ซูได้ค่าจ้างเป็นเงิน 20 เหรียญต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าไม่ได้เลวร้ายมาก แต่ถ้าเทียบกับกำไรที่ทางโรงละครหามาได้ล่ะก็ เธอได้ไม่คุ้มค่าจ้างสำหรับการเป็นดาวเด่นของโรงละครแห่งนี้เอาเสียเลย
มีทฤษฎีมากมายที่ผู้คนพยายามอธิบายสาเหตุของใบหน้าไร้อารมณ์ของเธอ บางคนคิดว่าเธอตาบอดหรือหูหนวก แต่ความจริงก็ถูกเปิดเผยในช่วงฤดูหนาวปี 1907 โดยสาเหตุที่ซูไม่เคยยิ้มหรือหัวเราะ เป็นเพราะกล้ามเนื้อบนใบหน้าของเธอเป็นอัมพาต เมื่อเรื่องนี้รู้ถึงหูผู้ชม วิลลี แฮมเมอร์สไตน์ ผู้จัดการแสดงก็ถูกกล่าวหาว่าทำการหลอกลวงผู้ชมมาโดยตลอด เพราะไม่มีทางที่ใครจะชนะการท้าพนันนี้ได้แน่นอน
ไอเดียการหลอกลวงของวิลลีก็คือ การล่อนักแสดงตลกมืออาชีพให้เข้ามาทำการแสดงฟรีๆ เมื่อความจริงถูกเปิดเผย วิลลีก็ถูกตราหน้าจากสังคม โดยเฉพาะนักแสดงตลกทั้งหลายที่ไม่เคยให้อภัยเขาอีกเลย
ภาพประกอบด้านบน ไม่ใช่ โซเบอร์ ซู ตัวจริง
เรื่องราวของ โซเบอร์ ซู ถูกบันทึกเอาไว้น้อยมาก รู้เพียงแค่ว่าชื่อจริงของเธอคือ ซูซาน เคลลี โดยชื่อของเธอเคยปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทมส์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1907 นอกจากนั้นก็ไม่มีใครรู้รายละเอียดเกี่ยวกับเธอมากเท่าไหร่ ไม่มีภาพถ่ายของเธอหลงเหลือมาจนทุกวันนี้ มีแค่การกล่าวอ้างว่า เธอเป็นลูกครึ่งแอฟริกัน-อเมริกัน แต่ก็ไม่มีการยืนยันว่านี่คือเรื่องจริง แต่หลายคนเชื่อว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะถ้าเธอมีเชื้อแอฟริกันจริง ต้องมีหนังสือพิมพ์กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างแน่นอน
ส่วนอาการกล้ามเนื้อใบหน้าเป็นอัมพาตของเธอ เชื่อว่าน่าจะเป็นโรคที่ชื่อว่า โมเบียส ซินโดรม (Mobius Syndrome) โรคหายากที่เกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติของเส้นประสาทสมอง นำไปสู่การเกิดอัมพาตบนใบหน้าทั้ง 2 ฝั่ง จนมีลักษณะการแสดงสีหน้าที่เหมือน “ใส่หน้ากาก” อยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่มีการยืนยันว่าเธอจะเป็นโรคนี้จริงๆ ซึ่งโอกาสที่จะคนจะเกิดโรคนี้มีเพียง 1 ใน 20 ล้านคนเท่านั้น
ในปัจจุบันนี้ ชื่อของ โซเบอร์ ซู ได้กลายเป็นตำนาน และกลายมาเป็นคำอุปมาอุปมัยสำหรับใช้เรียกผู้ชมที่ยิ้มยากในการแสดงอีกด้วย
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ
ที่มา : boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา