โลกเรากำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตโดยมีต้นเหตุมาจากสภาวะโลกร้อนที่เป็นผลมาจากธรรมชาติที่ถูกทำลาย และหนึ่งในทวีปที่ได้รับผลกระทบนี้มากที่สุดคงหนีไม่พ้น “แอฟริกา” ทวีปที่มีแต่ความร้อนและความแห้งแล้ง และถ้าโลกของเรามีอุณหภูมิสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป ผู้คนชาวแอฟริกันจะอาศัยอยู่กันได้อย่างไร
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ทางรัฐบาลของแต่ละประเทศมีแผนที่จะช่วยเหลือทวีปแอฟริกาให้กลับมาเป็นสีเขียว เหมือนดั่งเช่นทะเลทรายซาฮาร่าที่เคยเป็นป่าเมื่อ 6,000 ปีที่ผ่านมา
Great Green Wall (กำแพงเขียวยักษ์) หรือ Great Wall of Africa (กำแพงยักษ์แห่งแอฟริกา) คือโครงการที่ถูกอนุมัติอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2007 โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับความแห้งแล้งในเขตภูมิภาคซาเฮล ทางตอนเหนือของแอฟริกา และเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกจากสภาวะโลกร้อน
กำแพงเขียวยักษ์นี้ ถูกวางแผนที่จะสร้างแนวขวางตัดทวีปแอฟริกาเป็นความยาวรวมกว่า 8,000 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กว่า 625 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นดินแดนที่แห้งแล้งและไร้ประโยชน์ และหากกำแพงนี้ถูกสร้างขึ้นมาสำเร็จจะช่วยกำจัดก๊าซคาร์บอนได้มากถึง 250 ล้านตัน ภายในปี 2030
แน่นอนว่า หากกำแพงเขียวยักษ์นี้เกิดขึ้นจริงจะช่วยสร้างคุณประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมาย เช่น งานด้านป่าไม้และโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้คนนับ 10 ล้าน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมถึงความอุดมสมบูร์ทางด้านอาหารที่จะทำให้ผู้คนนับล้านไม่ต้องอดอยากอีกต่อไป
นอกจากนั้น กำแพงเขียวยักษ์แห่งนี้จะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญของโลก โดยปัจจุบันมีประเทศในทวีปแอฟริกามากกว่า 20 ประเทศ รวมถึงพันธมิตรจากนานาชาติอีก 23 ประเทศที่เข้าร่วมในโครงการนี้
โครงการที่น่าทึ่งนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากโครงการอื่น ๆ ที่คล้ายกัน หนึ่งในนั้นคือ Algerian Green Dam หรือ เขื่อนสีเขียวแอลจีเรีย ซึ่งเป็นโครงการปลูกป่าขนาดใหญ่เพื่อป้องกันพื้นที่ก่อนถึงทะเลทรายซาฮารา รวมไปถึงไอเดียจากกำแพงเมืองจีนที่ถูกใช้เป็นแนวกันลมของป่าในประเทศจีน เพื่อยับยั้งการขยายตัวของทะเลทรายโกบี
นับเป็นเวลาถึง 12 ปีแล้วตั้งแต่ที่โครงการนี้เริ่มต้นขึ้น ซึ่งมีหลายประเทศที่ได้รับผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม จากรายงานระบุว่ามีพื้นที่มากถึง 125 ล้านไร่ หรือประมาณ 20% ที่สำเร็จไปตามเป้าหมายแล้ว โดยกินพื้นที่ในประเทศ เอธิโอเปีย, เซเนกัล, ไนจีเรีย, ซูดาน, บูร์กินา ฟาโซ, มาลี, ไนเจอร์ และชาติอื่น ๆ อีก
แต่ไม่ใช่ว่าโครงการนี้จะได้รับแต่คำชื่นชม เพราะยังมีเสียงวิจารณ์เล็กน้อยเกี่ยวกับการพยายามแปรสภาพทะเลทรายด้วยวิธีการที่ผิด ทะเลทรายซาฮาราก่อตัวขึ้นมาเพราะตำแหน่งที่มันอยู่และปริมาณน้ำฝนที่เกิด ปริมาณของต้นไม้ที่เพิ่มขึ้นจะไม่เปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝนแต่อย่างใด
อย่างน้อยที่สุด หลายคนเชื่อว่าโครงการใหญ่ยักษ์นี้จะช่วยเปลี่ยนโลกใบเดิมของเราให้เปลี่ยนไป และมันจะช่วยเรื่องสภาวะโลกร้อนหรือไม่ อย่างน้อยการมีป่าและต้นไม้ที่เพิ่มขึ้นนับล้าน ๆ ต้นจะส่งผลดีต่อโลกและชาวแอฟริกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างแน่นอน
ที่มา : boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ