คุณคิดว่าในภาษาไทยที่เหมือนกัน ผู้ชายกับผู้หญิงจะใช้คำใดที่เรียกแตกต่างกันบ้าง สิ่งที่เราคิดได้อย่างแรกก็คือคำว่า “ครับ” หรือ “ค่ะ” ที่่บ่งบอกความแตกต่างระหว่างเพศได้ นอกจากนั้นก็ยังมีคำสรรพนามที่ใช้แทนตัวเองอีกนิดหน่อย แต่โดยรวมแล้วผู้ชายกับผู้หญิงก็ไม่ได้มีภาษาที่แตกต่างกันอยู่ดี
แต่สำหรับ อูบัง (Ubang) หมู่บ้านเล็ก ๆ ในประเทศไนจีเรียแห่งนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร เพราะที่นี่ผู้ชายกับผู้หญิงจะมีความแตกต่างทางด้านภาษาที่ไม่เหมือนกัน
เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ผู้ชายและผู้หญิงที่เกิดมาในชุมชนเดียวกัน หรือแม้แต่ครอบครัวเดียวกันจะพูดภาษาต่างกันได้ แต่ในกรณีของชาวอูบังนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ตัวอย่างเช่น การใช้คำเรียก “เสื้อผ้า” ผู้ชายจะใช้คำว่า “nki” ส่วนผู้หญิงจะใช้คำว่า ariga”
ในขณะที่คำว่าต้นไม้ ผู้ชายจะใช้คำว่า “kitchi” แต่ผู้หญิงจะใช้คำว่า “okweng” นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ซึ่งหากคุณเกิดมาในเพศที่ต่างกัน คำศัพท์ที่ถูกใช้ในการเรียกสิ่งต่าง ๆ ก็จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และยังมีคำอื่น ๆ อีกเช่น
“มันแทบจะเป็นพจนานุกรม 2 เล่มที่แตกต่างกัน” Chi Chi Undie นักมานุษยวิทยาชาวไนจีเรียกล่าวกับ BBC
“มีหลายคำที่ผู้ชายกับผู้หญิงใช้เหมือนกัน แต่ก็มีคำอีกมากมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงโดยขึ้นอยู่กับเพศของคุณ มันสะกดไม่เหมือนกัน พูดไม่เหมือนกัน มันคือคนละคำดี ๆ นี่เอง”
ที่น่าสนใจก็คือทั้งผู้ชายและผู้หญิงสามารถเข้าใจซึ่งกันและกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากเด็กชายและเด็กหญิงต่างเติบโตมากับพ่อและแม่ที่ทำให้พวกเขาเรียนรู้ได้ทั้ง 2 ภาษาไปพร้อม ๆ กัน แต่เมื่ออายุประมาณ 10 ปี เด็กผู้ชายก็จะเริ่มพูดภาษาที่เป็นของผู้ชาย
การที่เด็ก ๆ อยู่ใกล้ชิดกับแม่ตอนที่ยังเล็ก พวกเขาจะซึมซับภาษาของผู้หญิงรวมถึงเด็กผู้ชายก็เช่นกัน จนกระทั่งเด็กผู้ชายเริ่มโตขึ้น พวกเขาจะค่อย ๆ เรียนรู้ภาษาของผู้ชายมากขึ้น
ไม่มีใครบอกว่าพวกเขาต้องพูดภาษาของผู้ชายตอนไหน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กชายเริ่มทำแบบนั้น มันแสดงถึงการมีวุฒิภาวะของเด็กผู้ชายที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ส่วนต้นกำเนิดของชาวอูบังที่พูด 2 ภาษาที่แตกต่างกันยังคงเป็นปริศนา แต่ชาวอูบังเองมีความเชื่อทางด้านศาสนาที่ระบุว่าพระเจ้าสร้างอาดัมและเอวาเป็นชาวอูบังและพระองค์ทรงให้ผู้ชายกับผู้หญิงพูดกันคนละภาษา
จากนั้นพระเจ้าก็วางแผนที่จะสร้างผู้ชายกับผู้หญิงในชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ให้พูดกันคนละภาษาเช่นกัน แต่พระองค์ก็ตระหนักได้ว่าภาษาคงมีไม่เพียงพอเป็นแน่ นั่นจึงทำให้พระองค์ทรงล้มเลิกความคิดนี้ และสร้างชุมชนอื่น ๆ ทั่วโลกให้พูดภาษาเดียวกันเป็นปกติ สุดท้ายก็มีแต่ชาวอูบังเท่านั้นที่ผู้ชายกับผู้หญิงพูดกันคนละภาษา
ปัจจุบันนี้ ภาษาอังกฤษได้เริ่มมีบทบาทต่อคนรุ่นใหม่ในประเทศไนจีเรียมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหลายคนเกรงว่า วัฒนธรรมสองภาษาของชาวอูบังกำลังมีความเสี่ยงที่จะหายไปตลอดกาล
ที่มา : BBC | odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ