เมื่อมีคนขุดภาพในอดีตนี้แล้วบอกว่าผู้หญิงคือสาเหตุของรถชน แต่ความจริงกลับไม่มีคนผิด

ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบค้นหาข้อมูลความรู้บนอินเทอร์เน็ต นี่คือเรื่องราวที่พิสูจน์ให้เราได้รู้วา ไม่ควรเชื่อในสิ่งที่ผู้คนเอามาแชร์ ถ้าหากเราไม่ได้ศึกษาเรื่องราวนั้นๆ ให้ดีเสียก่อน

เมื่อไม่นานที่ผ่านมา มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายหนึ่งได้โพสต์ภาพในอดีตที่เกิดขึ้นในปี 1937

 พร้อมกับแคปชั่นที่ระบุว่า “ในปี 1937 ผู้หญิงสองคนนี้เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ เพราะนุ่งสั้นในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก”

ต้องย้อนกลับไปในอดีตกว่าร้อยปีก่อน ผู้หญิงในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยกฏหมายต่างๆ อย่างที่หลายคนอาจจะได้เห็นชุดว่ายน้ำของผู้หญิงในสมัยก่อน และเมื่อกฏหมายได้เปิดโอกาสให้พวกเธอนุ่งกางเกงหรือกระโปรงขาสั้นได้ จึงมีผู้หญิงหลายคนที่แต่งตัวเปิดเผยมากขึ้น

ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่เชื่อในภาพและแคปชั่นที่เห็น โดยระบุว่า “พวกเธอเป็นสาเหตุของรถชน”

แต่ชาวเน็ตบางคนกลับให้มุมมองที่แตกต่างออกไป

“ไม่ พวกเธอไม่ใช่สาเหตุ ผู้ชายที่ขับรถยนต์ของเขาละสายตาจากถนนเอง เพราะเขาจ้องไปที่เธอทั้งคู่จนเกิดอุบัติเหตุ เขาหันมองไปนอกถนน เขาทำให้คนอื่นต้องเสี่ยงอันตราย และเขาขับรถชนเอง เรื่องนี้พิสูจน์ว่า คุณต้องอาศัยอยู่ในสังคมที่โทษแต่ผู้หญิงสำหรับทุกสิ่งที่พวกเธอไม่ได้ทำ”

ชาวเน็ตคนนี้กำลังจะสื่อว่า สังคมบ้านเรา เอะอะก็โทษแต่ผู้หญิงๆ เธอไม่ได้ทำผิดอะไรก็ยังโทษผู้หญิงอยู่นั่นแหละ

ดูเหมือนจะมีผู้คนมาชื่นชมความคิดเห็นของชาวเน็ตคนนี้เป็นจำนวนมาก แต่กลับกลายเป็นว่าทุกคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาพนี้ทั้งหมด เพราะมีชาวเน็ตคนหนึ่งมาเฉลยถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยกล่าวว่า

“พวกเธอไม่ได้เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุ ผู้ชายก็ไม่ได้วอกแวกจนเกิดอุบัติเช่นกัน ความเป็นจริงแล้วไม่มีใครต้องเสี่ยงอันตราย ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ลองมองภาพนี้ให้ดีๆ จะเห็นว่ารถไม่มีรอยบุบจากการชนเสาเลย”

“ความจริงก็คือมันเป็นภาพถ่ายที่ถูกจัดฉากขึ้นโดย อเล็กซานดรา สตูดิโอ บริษัทถ่ายภาพเชิงพาณิชย์ที่ตั้งอยู่ในโตรอนโต ภาพถ่ายชุดนี้ถูกระบุว่าเกิดขึ้นในปี 1937 ผู้หญิงในภาพเป็นนางแบบ และพวกเธอไม่ได้เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุแต่อย่างใด มันถูกถ่ายขึ้นเพื่อให้เห็นสังคมเมือง ณ ขณะนั้น”

“ผมไม่ได้โทษผู้หญิงในสิ่งที่เธอไม่ได้ทำ แล้วผมก็ไม่โทษผู้ชายสำหรับสิ่งที่เขาไม่ได้ทำเช่นกัน ผมแค่หมดศรัทธากับผู้คนในเว็บไซต์นี้ที่เชื่อทุกสิ่งที่เห็นบนอินเทอร์เน็ต ส่วนนี่คือภาพในมุมอื่นๆ ที่คุณจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มันไม่ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นแต่อย่างใด”

และคอมเมนท์นี้ก็ทำให้ชาวเน็ตส่วนใหญ่ถึงกับตาสว่างกันเลยทีเดียว

เรื่องราวนี้สอนอะไรให้กับเราได้บ้าง ? แน่นอนว่าผู้คนในยุคโซเชียล เลือกที่จะเชื่อภาพถ่ายที่มาพร้อมกับแคปชั่นแบบ 100% โดยไม่ได้ตั้งข้อสังเกตใดๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องราวที่สนับสนุนเกี่ยวกับความเชื่อของตัวเองด้วยล่ะก็ พวกเขาพร้อมที่จะเชื่ออย่างสนิทใจ และพร้อมจะแชร์ออกไปทันทีโดยไม่ได้ไตร่ตรอง หวังว่าเรื่องนี้จะทำให้คุณได้หยุดคิดกันสักนิดเพื่อ “เช็คก่อนแชร์” เพื่อที่คุณจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของบุคคลที่โพสต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ

ที่มา : Alexandra Studio of Toronto | boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา