ในช่วงทศวรรษ 1960 วอลลี ฟังก์ สามารถเอาชนะผู้ชายส่วนใหญ่ในโครงการเมอคิวรี และผ่านการทดสอบการเป็นนักบินอวกาศได้สำเร็จ แต่เธอต้องใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตในการต่อสู้กว่าจะได้โอกาสขึ้นไปบนอวกาศตามที่เธอฝัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
1. ชีวิตในวัยเด็ก
วอลลี ฟังก์ เติบโตมากับเครื่องบินมาตั้งแต่เด็ก ตอนอายุแค่เพียง 1 ขวบ แม่ของเธอพาเธอไปยังสนามบินแห่งหนึ่งในนิวเม็กซิโก และที่นั่นเธอได้มีโอกาสสัมผัสพวงมาลัยเครื่องบินเป็นครั้งแรก แม่ของเธอประกาศว่า “เธอกำลังจะเป็นนักบิน”
เมื่ออายุได้ 7 ขวบ วอลลีสร้างเครื่องบินไม้เป็นของตัวเอง ตอน 9 ขวบเธอได้มีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้การเป็นนักบินของจริง จนกระทั่งในช่วงวัยรุ่น วอลลีได้รับใบอนุญาตให้ขับเครื่องบินได้ จากนั้นเธอก็ได้ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอคลาโฮมาเพื่อที่เธอจะได้ร่วมบินกับทีมของเธอได้
หลังจากเรียนจบ เธอกลายเป็นครูสอนการบินหญิงเพียงคนเดียวในกองทัพสหรัฐ วอลลีกล่าวว่า “ฉันทำทุกอย่างที่ผู้คนไม่คาดหวังให้ผู้หญิงทำ แต่ไม่มีอะไรที่ฉันทำไม่ได้”
2. จุดเริ่มต้นสู่นักบินอวกาศฝึกหัด
ดูเหมือนการบินบนท้องฟ้าจะไม่ใช่เรื่องท้าทายสำหรับเธออีกต่อไป วันหนึ่ง วอลลีได้อ่านบทความในนิตยสาร Life เกี่ยวกับ เจอร์รี ค็อบบ์ นักบินหญิงที่เข้ารับโอกาสเข้าทดสอบการเป็นนักบินอวกาศ ในตอนนั้นเอง วอลลีก็รู้ได้ทันทีว่าเธอต้องเป็นนักบินอวกาศหญิงของนาซ่าให้ได้
วอลลีตัดสินใจเขียนจดหมายถึง แรนดี เลิฟเลซ นักวิจัยผู้ออกแบบการทดสอบนักบินอวกาศให้กับนาซ่า เขาต้องการศึกษาเรื่องนี้ด้วยตัวเองว่า “ผู้หญิงสามารถเป็นนักบินอวกาศได้ดีกว่าผู้ชายหรือไม่” ซึ่งนาซ่าเองก็ไม่ได้รับรู้เรื่องนี้ด้วย
ในปี 1961 วอลลี ฟังก์ ในวัย 22 ปี ได้รับเชิญเข้าร่วมการศึกษานี้ เธอทิ้งทุกอย่างเอาไว้ข้างหลังและเดินทางไปสู่การเป็นนักบินอวกาศฝึกหัดในที่สุด
3. บททดสอบที่เธอไม่คาดคิด
ด่านแรกของการทดสอบ วอลลีต้องถูกเอ็กซเรย์รวมถึงการตรวจร่างกายในแบบทุกซอกทุกมุม เธอถูกทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายหลายครั้ง ต้องกลืนท่อยางยาว 3 ฟุต และนักวิจัยยังยิงน้ำแข็งใส่เข้าในหูของเธอเพื่อทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ แต่เธอก็ไม่เคยบ่น เพราะสิ่งเดียวที่เธอต้องการก็คือการไปอวกาศ
“พวกเขาเอาเข็มทิ่มเข้ามาในตัวฉันตลอดเวลา และก็ถูกหลอดทดลองจิ้มลงมาติดตัวเธอด้วย” วอลลีกล่าว “ด้วยเหตุผลอะไรฉันก็ไม่รู้”
ไม่กี่เดือนหลังจากผ่านการทดสอบครั้งแรก วอลลีเดินทางไปยังโอคลาโฮมาซิตีอีกเป็นรอบที่ 2 เพื่อเข้ารับการทดสอบอีกครั้ง
“คุณยังต้องการไปอวกาศอยู่อีกไหม” นักวิจัยถาม วอลลีตอบว่าใช่อย่างไม่ลังเล
3. สู่การเป็น Mercury 13
ไปในปี 1961 วอลลี ฟังก์ สวมชุดว่ายน้ำวันพีซเข้าไปในอ่างน้ำสำหรับทดสอบการลอยตัวที่มืดสนิท เด็กสาววัย 22 ปีแสดงให้เห็นว่าเธอสามารถรับมือกับสภาวะจำลองในอวกาศได้ วอลลีต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้หญิงก็สามารถเป็นนักบินอวกาศได้เช่นกัน แต่นั่นคือยุคก่อนที่นาซ่าจะยอมรับผู้หญิงเข้าฝึกนักบินอวกาศ
นั่นหมายความว่าเธอต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นที่เป็นคู่แข่งของเธอ ในขณะที่ผู้ชายนั่งทดสอบในห้องมืดพร้อมกับกระดาษกับปากกาที่เอาไว้แก้เบื่อ และไม่มีผู้ชายคนไหนอยู่ได้เกิน 3 ชั่วโมง
แต่วอลลีกลับเลือกที่จะทดสอบลอยตัวในแท็งค์น้ำที่มืดสนิท นักวิจัยผู้อยู่เบื้องหลังการทดสอบสันนิษฐานว่า ไม่มีใครสามารถทนอยู่ในอ่างได้นานกว่า 6 ชั่วโมง แต่หลังจาก 6 ชั่วโมงผ่านไป เธอยังสามารถลอยตัวอยู่ในนั้นได้อย่างสงบนิ่ง ในที่สุดนักวิจัยก็ยอมรับในตัวเธอและสัญญาว่าเธอจะมีโอกาสได้ไปยังอวกาศในไม่ช้า
วอลลี ฟังก์ สามารถทำลายสถิติของทุกคนในนาซ่าได้อย่างราบคาบ เธอสามารถลอยตัวคนเดียวในนั้นได้เป็นเวลา 10 ชั่วโมง 35 นาที เธอกับผู้หญิงอีก 12 คนผ่านการทดสอบเหล่านี้เช่นเดียวกับที่ใช้ทดสอบกับนักบินอวกาศผู้ชายของนาซ่า และพวกเธอก็ถูกขนานนามว่า Mercury 13
แต่นาซ่าไม่ยอมรับการมีอยู่ของโครงกานี้ พวกเขาปฏิเสธที่จะอนุญาตให้ผู้หญิงขึ้นไปยังอวกาศในตอนนั้น วอลลีและนักบินอวกาศหญิงคนอื่น ๆ ต้องนั่งดูผู้ชายคนแล้วคนเล่าขึ้นไปบนอวกาศ ในที่สุดโครงการนี้ก็ต้องถูกยุบไป ในขณะที่โซเวียตกลับส่งนักบินอวกาศหญิงคนแรกขึ้นไปยังอวกาศได้สำเร็จในปี 1963
4. ความพยายามอีกครั้ง
นาซ่าไม่เคยยอมรับผู้หญิงเข้าร่วมโครงการนักบินฝึกหัดจนกระทั่งปี 1978 เมื่อพวกเขาประกาศนโยบายใหม่ และวอลลีคิดว่าตัวเองยังไม่แก่เกินไปที่จะเดินทางไปอวกาศ
ในช่วงอายุ 40 ต้น ๆ วอลลีสมัครเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมนักบินอวกาศถึง 4 ครั้ง แต่นาซ่าก็ปฏิเสธเธอทุกครั้ง คราวนี้ไม่ใช่เรื่องที่เธอเป็นผู้หญิง แต่นาซ่ากำหนดให้นักบินอวกาศต้องสำเร็จการศึกษาในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ แต่ใบปริญญาของเธอกลับไม่ผ่านเงื่อนไขนี้ และเมื่อเธอตัดสินใจลงเรียนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ เธอกลับถูกบอกว่า “คุณเป็นผู้หญิง กลับบ้านไปซะเถอะ”
5. กลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง
เมื่อไม่มีโอกาสได้ไปอวกาศ เธอจึงอุทิศตนเพื่ออาชีพนักบินแทน วอลลีกลายเป็นผู้ตรวจสอบความปลอดภัยหญิงคนแรกขององค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา และยังคงเพิ่มชั่วโมงบินของเธอต่อไป โดยทำได้มากกว่า 19,000 ชั่วโมง
นอกจากนั้น วอลลียังคงทำงานเป็นครูสอนการบินที่มีลูกศิษย์อยู่ในวงการการบินหลายร้อยคนอีกด้วย
ในปี 1983 วอลลีได้เฝ้าดู แซลลี ไรด์ ที่กลายเป็นนักบินอวกาศหญิงชาวอเมริกันคนแรกที่ขึ้นไปบนอวกาศ ต่อมาในปี 1995 ไอลีน คอลลินส์ ก็กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่เป็นผู้บัญชาการภารกิจปล่อยกระสวยอวกาศ โดยเธอได้เชิญทีมนักบินอวกาศหญิง Mercury 13 มาร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้ด้วย
6. ความฝันที่เป็นจริง
วอลลี ฟังก์ ไม่เคยล้มเลิกความฝันที่จะได้ไปอวกาศ ในปี 2012 เธอพยายามมัดจำเงิน 2 แสนเหรียญ หรือประมาณ 6 ล้านบาทเพื่อจองตั๋วยานอวกาศ SpaceShipTwo ของ Virgin Galactic ที่มีแนวโน้มว่าจะสามารถพาเธอขึ้นไปยังอวกาศได้ แต่โครงการนี้ก็ยังไม่สามารถสานฝันให้เธอได้สำเร็จ
ในที่สุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 นี้เอง เจฟฟ์ เบโซส มหาเศรษฐีระดับโลกเจ้าของ Amazon และโครงการอวกาศ Blue Origin ได้ส่งคำเชิญให้กับ วอลลี ฟังก์ ในวัย 82 ปี มาร่วมเดินทางกับเขาบนยาน New Shepard ของเขา ซึ่งนับเป็นเวลา 60 ปีหลังจากที่เธอผ่านการทดสอบการเป็นนักบินอวกาศตอนนั้น ในที่สุด วอลลี ฟังก์ ก็ได้ไปอวกาศ
เจฟฟ์ เบโซส ถามวอลลีว่าเธอจะทำอะไรเมื่อออกไปนอกโลกแล้ว วอลลีตอบว่า “ฉันจะพูดว่า … ที่รัก นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับฉันจริง ๆ”
“ฉันไม่สามารถบอกคนอื่นที่กำลังดูอยู่ว่า ฉันรู้สึกเหลือเชื่อมากแค่ไหนที่ถูก Blue Origin เลือกให้ไปในทริปนี้” วอลลีกล่าว “ฉันจะรักมันในทุก ๆ วินาทีเลย”
ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2021 วอลลี ฟังก์ ได้เดินทางออกจากโลกในเวสต์เท็กซัสขึ้นไปเหนือพื้นโลกที่ระดับความสูง 100 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นการแตะขอบอวกาศ ก่อนที่จะกลับมาถึงพื้นโลกอย่างปลอดภัย และนั่นทำให้เธอกลายเป็นผู้ที่มีอายุมากที่สุดในโลกที่ได้ไปอวกาศ
ในที่สุดความฝันของเธอก็กลายเป็นจริงเสียที
ที่มา : allthatsinteresting | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ