ในพื้นที่ห่างไกลบนเนินเขาของรัฐเมฆาลัย ประเทศอินเดีย เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่มีอายุนานหลายร้อยปี โดยมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครเพราะชาวบ้านทุกคนจะได้รับทั้งชื่อปกติและเพลงประจำตัวตอนเกิด ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้กลายเป็นอัตลักษณ์ประจำตัวของพวกเขา
หมู่บ้านโบราณแห่งนี้มีชื่อว่า “ก้องทอง” ที่เพิ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงเพื่อเป็น “หมู่บ้านท่องเที่ยวที่ดีที่สุด” ขององค์การการท่องเทียวโลกแห่งสหประชาชาติ ทั้งในด้านความงามตามธรรมชาติ ชาวบ้านที่มีอัธยาศัยดี และประเพณีการตั้งชื่อที่เป็นเอกลักษณ์
ชาวบ้านจำนวน 650 คนที่หมู่บ้านแห่งนี้จะมีชื่อปกติเหมือนผู้คนทั่วไปเพื่อนำไปใช้ในทางราชการ นอกจากนั้นพวกเขาจะมีชื่อ “เพลง” ที่พ่อแม่แต่งให้ตั้งแต่แรกเกิด และจะต้องใช้เพลงนี้ติดตัวไปตลอดชีวิต ส่วนชาวบ้านเองก็จะเรียกชื่อกันด้วยเพลงประจำตัว ชุมชนที่สวยงามแห่งนี้จึงกลายเป็นที่รู้จักในฉายา Whistling Village หรือ หมู่บ้านผิวปาก
“มันเป็นการแสดงออกถึงความรักและความสุขของแม่ที่มีต่อลูกของพวกเธอตอนที่ออกมาลืมตาดูโลก มันเหมือนเพลงจากหัวใจจากแม่ที่เต็มไปด้วยความอ่อนโยน และเกือบจะเหมือนกับเพลงกล่อมเด็ก” ชาวบ้านก้องทองรายหนึ่งกล่าว
เพลงนี้ถูกเรียกว่า “jingrwai iawbei” หรือที่หมายถึง “เพลงคุณย่า” เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ชาวบ้านเชื่อว่าบรรพบุรุษของพวกเขาใช้เพลงแทนการเรียกชื่อในขณะล่าสัตว์ในป่าเพื่อป้องกันวิญญาณชั่วร้ายไม่ให้จดจำชื่อของพวกเขาได้
หลายปีที่ผ่านมา เพลงที่คล้ายกับเสียงผิวปากได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น จนทำให้ชาวบ้านนำมาใช้เรียกหากันโดยเฉพาะในระยะทางไกล
ในทางเทคนิค เด็กแรกเกิดจะได้รับเพลง 2 เพลง โดยเป็นเวอร์ชันสั้นซึ่งใช้เรียกเป็นชื่อเล่น และเวอร์ชันยาวที่มีความยาวระหว่าง 10 ถึง 20 วินาที ที่มักนำไปใช้ร้องเล่นกันในทุ่ง หรือเมื่อต้องการเรียกใครสักคนบนภูเขาและหุบเขา
ก่อนหน้านี้ เยาวชนในหมู่บ้านก้องทองพยายามย้ายออกไปต่างบ้านต่างเมืองเพื่อหางานทำและชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น ซึ่งส่งผลต่อประเพณีการตั้งชื่อเป็นเพลงที่ค่อย ๆ หายไป
แต่หลังจากที่เรื่องราวของหมู่บ้านก้องทองเริ่มมีชื่อเสียงบนโลกอินเทอร์เน็ตและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวหลายพันคนมาเยี่ยมชมทุกปีเพื่อฟังชาวท้องถิ่นเรียกชื่อหากันเป็นเพลง
ถึงแม้ในตอนแรก ชาวบ้านไม่รู้ว่าเอกลักษณ์ของพวกเขาเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่เมื่อพวกเขาเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของประเพณีนี้ ทุกคนก็พยายามรักษามันให้อยู่สืบต่อไปอีกนานเท่านาน
ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา