เครซี ฮอร์ส อนุสาวรีย์วีรบุรุษอินเดียนแดงที่ใช้เวลาสร้าง 70 ปีแต่ยังไม่เสร็จ

อนุสาวรีย์เครซี ฮอร์ส (Crazy Horse) ขนาดมหึหาบนภูเขา Black Hills ในรัฐเซาท์ดาโคต้า อยู่ระหว่างการก่อสร้างมานานกว่า 70 ปีแล้ว และปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสร้างเสร็จ

อนุสาวรีย์เครซี ฮอร์สบนภูเขา Black Hills ในเมือง Custer City รัฐเซาท์ดาโคต้า เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี 1948 เพื่อสดุดีเครซี ฮอร์ส วีรบุรุษผู้นำชนเผ่าลาโกตา ปัจจุบันอนุสาวรีย์ริมหน้าผาแห่งนี้ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์

หากอนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างเสร็จ ประติมากรรมชิ้นนี้จะสลักออกมาเป็นรูปนักรบชนพื้นเมืองอเมริกันกำลังขี่ม้าและชี้ไปยังดินแดนชนเผ่าของเขา ปัจจุบันมีเพียงศีรษะของเขาเพียงส่วนเดียวที่สร้างเสร็จแล้ว โดยมีความสูง 87 ฟุต ซึ่งสูงกว่าศีรษะของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแต่ละคนที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติเขารัชมอร์ที่สูงเพียงแค่ 60 ฟุต

เครซี ฮอร์สได้นำทัพเข้าต่อสู้ในสงครามครั้งประวัติศาสตร์ในช่วงปี 1800 เขาปกป้องคนในเผ่าจากการรุกรานของรัฐบาลสหรัฐจนกลายเป็นวีรบุรุษที่ผู้คนยกย่อง แต่สุดท้ายเขาก็มีจุดจบที่น่าเศร้า

ชีวิตของเครซี ฮอร์ส

เครซี ฮอร์ส หรือชื่อจริงคือ ทาซุนเก วิตโค เกิดในปี 1840 ที่เมืองราพิดครีกซึ่งห่างจากอนุสาวรีย์ 40 ไมล์ เขาได้รับการเลี้ยงดูจากแพทย์และเป็นสมาชิกของเผ่า Oglala Lakota ตั้งแต่เกิด ในเวลานั้นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชนพื้นเมืองในอเมริกากำลังถูกรุกรานจากคนขาว นอกจากนั้นยังมีความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าอีกด้วย

ในวัยเด็ก เครซี ฮอร์สได้ผ่านพิธีกรรมของเผ่าลาโกตาที่เรียกว่า Hanbleceya หมายถึงการร้องไห้เพื่อการรู้แจ้ง เขาต้องเดินขึ้นไปร้องไห้บนภูเขาเป็นเวลาสี่วันโดยไม่กินอาหารและน้ำเพื่อเชื่อมต่อกับจิตวิญญาณ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เขาขี่ม้าเข้าสู่สนามรบพร้อมลวดลายสายฟ้าฟาดบนใบหน้าและประดับขนนกบนศีรษะของเขา

หนึ่งในการรบที่โดดเด่นที่สุดของเครซี ฮอร์ส คือเขาได้นำทัพเผ่าลาโกตาเข้าต่อสู่กับกองพันทหารม้าของนายพลจอร์จ อาร์มสตรอง คัสเตอร์ ในสมรภูมิที่ Little Bighorn ในปี 1876 ซึ่งรู้จักกันในนาม “การยืนหยัดครั้งสุดท้ายของคัสเตอร์” ทำให้คัสเตอร์และทหารสหรัฐ 280 นายพร้อมเจ้าหน้าที่อีก 9 นายไม่อาจรอดชีวิตไปจากที่นี่ได้ ความกล้าหาญในการต่อสู้ของเครซี ฮอร์ส ทำให้กองทัพสหรัฐเพิ่มความรุนแรงในการโจมตีชนพื้นเมืองมากกว่าเดิม

รัฐบาลเริ่มส่งหน่วยสอดแนมไปทั่วที่ราบทางตอนเหนือเพื่อไล่จับชนพื้นเมืองอเมริกันที่ต่อต้าน มีชนพื้นเมืองจำนวนมากที่ถูกบังคับให้ย้ายออกไป ผู้คนใช้ชีวิตด้วยความอดอยากจนไม่อาจขัดขืนได้อีกต่อไป ในที่สุด เครซี ฮอร์สก็ทนไม่ไหว เขาตัดสินใจยอมจำนนและเดินทางไปที่ป้อมโรบินสันในปี 1877 เพื่อเจรจาสงบศึก

ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์รายงายว่า ล่ามของเครซี ฮอร์สตีความคำพูดของเขาผิด ส่งผลให้การเจรจาเพื่อสันติภาพพังทลายและทหารระดับผู้บังคับบัญชาการเลือกที่จะจับกุมเขา

เครซี ฮอร์สขัดขืนการจับกุมและชักมีดออกมาเพื่อต่อสู้ จากการเจรจาเพื่อสันติภาพกลับจบลงด้วยการสูญเสีย ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นประเด็นข้อพิพาทยู่จนถึงทุกวันนี้

ต้นกำเนิดของอนุสรณ์สถานเครซี ฮอร์ส

เครซี ฮอร์สเชื่อว่าการถ่ายรูปคือการพรากวิญญาณออกไปและทำให้ชีวิตเขาสั้นลง แต่เฮนรี สแตนดิง แบร์ หัวหน้าเผ่าลาโกตาเชื่อว่าควรให้เกียรติวีรบุรุษอินเดียนคนนี้ด้วยการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อยกย่องเขา และให้คนขาวได้รู้ว่าชาวอินเดียนก็มีวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน

แต่สุดท้ายประธานาธิบดีของสหรัฐได้รับเกียรติสลักใบหน้าไว้ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติเขารัชมอร์ซึ่งอยู่ห่างออกไป 17 ไมล์ ซึ่งเป็นความอยุติธรรมที่เห็นได้ชัดเจน

ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของอนุสาวรีย์เครซี ฮอร์ส

หัวหน้าเผ่าลาโกตาได้ขายที่ดินขนาด 900 เอเคอร์สำหรับภูเขารกร้างให้กับกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้เขายังปฏิเสธการระดมทุนจากรัฐบาลเนื่องจากความเกลียดชังที่มีต่อรัฐบาล ในที่สุดการก่อสร้างก็เริ่มขึ้นในปี 1984 โดย คอร์ซแซก ซิโอลคอว์สกี สถาปนิกชาวอเมริกันเชื้อสายโปแลนด์เป็นผู้ออกแบบและแกะสลักอนุสาวรีย์นี้

ปัจจุบันอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นโครงการส่วนตัวที่ดูแลโดยมิโนก ลูกสาวของซิโอลคอว์สกี ในนามของมูลนิธิอนุสรณ์สถานเครซีฮอร์ส โดยมีเป้าหมายในการสร้างอนุสาวรีย์ที่ยิ่งใหญ่นี้ให้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่ง ณ ตอนนี้ได้รับทุนทั้งหมดจากการบริจาคของเอกชนและการขายตั๋วเข้าชมให้กับนักท่องเที่ยวหลายพันคนที่มาเยี่ยมชมทุกปี

อนุสาวรีย์เครซี ฮอร์สจะสร้างเสร็จเมื่อใด

ซิโอลคอว์สกีทำงานอย่างหนักเพียงลำพัง เขาปีนบันไดไม้ 741 ขั้นเพื่อไปถึงยอดเขาธันเดอร์เฮดและทำงานโดยปราศจากไฟฟ้า ภาพอนุสาวรีย์ที่เขาคิดไว้คือเครซี ฮอร์สนั่งอยู่บนหลังม้าของเขา และชี้ไปยังดินแดนที่เขาสูญเสียเพื่อนพ้องไปมากมาย เขาเชื่อว่าตัวเองจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 30 ปี แต่ก็ทำไม่สำเร็จ

ในปี 1982 ภรรยาของเขาเข้ามารับช่วงต่อและปรับเปลี่ยนแบบเล็กน้อย เธอเลือกปั้นใบหน้าของเครซี ฮอร์สก่อนที่จะปั้นม้า เพราะคิดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ และในปี 1998 ใบหน้าก็เสร็จสมบูรณ์ด้วยความช่วยเหลือจากลูก ๆ ทั้งเจ็ดคนของเธอ

เฮนรี สแตนดิง แบร์คงจะดีใจที่ได้เห็นใบหน้าวีรบุรุษของเขาสูงกว่าใบหน้าของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันอนุสาวรีย์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งหากสร้างเสร็จ มันจะเป็นอนุสาวรีย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากรูปปั้นแห่งเอกภาพ (The Statue of Unity) ที่ประเทศอินเดีย

ที่มา : allthatsinteresting | เรียบเรียงโดย เพชรมายา

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ