นักวิทย์ค้นพบ ‘หิมะสีน้ำเงิน’ ที่ส่องสว่างในเขตอาร์กติกของรัสเซีย

รัสเซียเป็นบ้านของสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติมากมาย ด้วยพื้นที่อันกว้างใหญ่และความหลากหลายทางธรณีวิทยา และล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบอีกหนึ่งความลึกลับทางธรรมชาตินั่นคือ ‘หิมะที่ส่องประกายสีน้ำเงิน’

Alexander Semenov/Facebook

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา เวรา เอมีเลียเนนโก นักชึววิทยาชาวรัสเซียได้ไปเดินเล่นบริเวณชายฝั่งไวท์ซี ในเขตพื้นที่อาร์กติกของรัสเซีย และได้สังเกตเห็นบางสิ่งที่ผิดปกติอย่างมากในหิมะ มันคือแสงสีน้ำเงินที่ส่องประกายราวกับไฟประดับในเทศกาลคริสต์มาส

Alexander Semenov/Facebook

เวราเดินทางไปกับ มิคาอิล เนเรติน ลูกชายของนักชีววิทยาโมเลกุลที่ทำงานอยู่ในสถานีชีววิทยาไวท์ซีและสุนัขอีก 2 ตัวในขณะนั้น ตอนแรกมิคาอิลได้พบกับแสงประหลาดนี้เป็นคนแรก

จากนั้นทั้งคู่ก็เดินสำรวจไปทั่ว ๆ พื้นที่และสังเกตเห็นว่ารอยเท้าของพวกเขาสร้างแสงเรืองสีน้ำเงินได้อย่างน่าอัศจรรย์ แม้แต่รอยเท้าสุนัขของพวกเขาก็ยังทำให้เกิดแสงเรืองประหลาดนี้ได้ และหากนำหิมะเรืองแสงนี้มาบีบในมือก็จะยิ่งทำให้มันเรืองแสงมากยิ่งขึ้น

Alexander Semenov/Facebook

เวรารู้สึกทึ่งกับการค้นพบในครั้งนี้ ดังนั้นเธอจึงกลับไปที่สถานีและขอให้ อเล็กซานเดอร์ เซเมนอฟ ผู้เป็นช่างภาพเดินทางไปกับเธอเพื่อบันทึกปรากฎการณ์ประหลาดนี้เอาไว้

ทั้งคู่ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการถ่ายภาพและสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อพวกเขาเหยียบย่ำลงไปบนพื้นหิมะจนลึกลงไปก็ทำให้พบกับแสงเรืองที่ปรากฎขึ้น ส่วนภาพถ่ายของอเล็กซ์ก็กลายเป็นกระแสบนโซเชียลมีเดียทันที

Alexander Semenov/Facebook

วันต่อมา เวราได้นำก้อนหิมะเรืองแสงไปตรวจสอบภายใต้กล้องจุลทรรศน์ และเมื่อหิมะละลายเธอก็พบเห็น ‘โคพีพอด’ (Copepod) สัตว์น้ำจำพวกครัสเตเชียน (Crustacean) เช่น กุ้ง กั้ง ปู ที่มีเปลือกหุ้มลำตัวขนาดเล็กในจานเพาะเชื้อ

และเมื่อเธอใช้เข็มจิ้มพวกมัน ก็เกิดเป็นแสงสีน้ำเงินจาง ๆ ส่องสว่างอออกมา นั่นหมายความว่าพวกมันคือแหล่งกำเนิดแสงสีน้ำเงินปริศนานั่นเอง

สิ่งมีชีวิตเหล่านี้รู้จักกันในชื่อ “แมลงแห่งท้องทะเล” โดยทั่วไปจะถูกพบได้ในมหาสมุทรที่ระดับความลึกสูงสุดถึง 100 เมตรในตอนกลางคืน

Alexander Semenov/Facebook

แต่บางครั้งพวกมันก็อยู่ในท้องทะเลที่ลึกเพียงไม่กี่ฟุตริมชายหาดจนทำให้เกิดเป็นปรากฎการณ์ “ทะเลเรืองแสง” ได้เช่นกัน

ส่วนปรากฎการณ์หิมะเรืองแสงในลักษณะนี้ไม่เคยถูกพบเห็นมาก่อนโดยเฉพาะที่สถานีชีววิทยาของรัสเซีย ถึงแม้ว่าที่นี่จะเปิดดำเนินการมากว่า 80 ปีแล้วก็ตาม

Alexander Semenov/Facebook

เซเนีย โคโซโบโควา ผู้เชี่ยวชาญด้านแพลงก์ตอนสัตว์ทะเลอาร์กติกที่สถาบันวิทยาศาสตร์ของรัสเซียกล่าวว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยากมาก และอาจเป็นผลมาจากการที่พวกโคพีพอดถูกกระแสน้ำที่รุนแรงพัดพาพวกมันขึ้นฝั่งและถูกกลบอยู่ภายใต้หิมะ จนกลายเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง

ที่มา : odditycentral | facebook | เรียบเรียงโดย เพชรมายา