เสาเหล็กอายุ 1,600 ปีที่ไม่ขึ้นสนิม จนเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งยุคโบราณ

มัสยิดกุววัต อุล อิสลาม ในนิวเดลี เป็นที่ตั้งของสิ่งมหัศจรรย์ในยุคโบราณสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จัก มันคือเสาเหล็กที่มีอายุ 1,600 ปีที่ตั้งตระหง่านอยู่อย่างโดดเด่น และที่สำคัญคือเสาเหล็กแห่งนี้สร้างความฉงนให้กับผู้คนมานานหลายศตวรรษ เนื่องจากมันเป็นเสาเหล็กที่ไม่ขึ้นสนิมเมื่อเสาเหล็กทั่วไป

เสาเหล็กแห่งกุตุบมีนาร์ คือเสาเหล็กที่มีความสูง 7.21 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 41เซนติเมตร และหนักประมาณ 6 ตัน โดยคาดว่าถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 ราว พ.ศ. 919 ถึง 960 ซึ่งเป็นหนึ่งในจักรพรรดิที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจักรวรรดิคุปตะ

ถึงแม้ว่าเสาเหล็กแห่งกุตุบมีนาร์จะตั้งอยู่กลางแจ้ง แต่มันก็แทบไม่มีร่องรอยการกัดกินของสนิมเลย เป็นเวลาหลายทศวรรษที่นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะจากทั่วโลกพยายามคาดเดาเกี่ยวกับคุณสมบัติที่ไม่ธรรมดาของเสาเหล็กต้นนี้

รวมไปถึงทฤษฎีสมคบคิดจำนวนมากที่พยายามคาดเดาไปต่าง ๆ นานา เช่น เสาต้นนี้ทำมาจากโลหะลึกลับที่ไม่ใช่โลหะที่อยู่บนโลกของเรา บ้างก็เชื่อว่ามันถูกสร้างด้วยเทคโนโลยีล้ำยุคที่อาจเลือนหายไปตามกาลเวลาโดยไม่มีใครรู้ ซึ่งทฤษฎีหลังก็มีความใกล้เคียงอยู่บ้าง

จนกระทั่งในปี 2003 นักโลหะวิทยาจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย ได้เปิดเผยการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Current Science ซึ่งทำให้ปริศนาทั้งหมดถูกไขกระจ่าง

R Balasubramanian ผู้เขียนรายงานการศึกษานี้เรียกเสาดังกล่าวว่า “หลักฐานที่แสดงถึงฝีมือของนักโลหะวิทยาของอินเดียโบราณ”

เขาอธิบายว่าโครงสร้างของเสาดังกล่าวถูกปกป้องด้วยชั้นบาง ๆ ที่เรียกว่า “misawite” โดยเป็นสารประกอบของเหล็ก ออกซิเจน และไฮโดรเจน ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เหล็กเกิดสนิมได้ การก่อตัวของ misawite เกิดจากปริมาณฟอสฟอรัสในเหล็กสูง

ในขณะที่เหล็กสมัยใหม่มีปริมาณฟอสฟอรัสต่ำกว่า 0.05% แต่เสาเหล็กแห่งกุตุบมีนาร์ที่ถูกสร้างขึ้นนั้น มีปริมาณฟอสฟอรัสมากถึง 1% เพราะแทนที่จะเอาฟอสฟอรัสออกจากเหล็กอย่างที่เราทำกันในทุกวันนี้เพื่อป้องกันโลหะแตกหัก ช่างโลหะอินเดียโบราณเก็บมันเอาไว้ และตีขึ้นรูปเป็นเสาด้วยค้อนแบบง่าย ๆ จนทำให้ฟอสฟอรัสจากแกนถูกผลักออกมายังพื้นผิว สิ่งนี้ทำให้เหล็กแข็งแรงและยังนำไปสู่การก่อตัวของ misawite อีกด้วย

ตามปกติแล้ว สิ่งมหัศจรรย์ในยุคโบราณมักมีคุณค่าทางจิตใจต่อมนุษย์เราอย่างมาก เสาเหล็กแห่งกุตุบมีนาร์ก็เช่นกัน มันมีชื่อเสียงในเรื่องของการนำโชคดีมาสู่ผู้ใดก็ตามที่ได้โอบกอดเสาจนปลายนิ้วสัมผัสกัน

ตลอดหลายศตวรรษ เสาเหล็กแห่งกุตุบมีนาร์กลายเป็นเสาศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนแห่กันมาสัมผัส แต่นั่นกลับส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อเสาต้นนี้ ถึงแม้ว่า misawite จะมีคุณสมบัติในการป้องกันสนิมดีเยี่ยม แต่มันก็บางมาก ดังนั้นการถูไถไปกับเสื้อผ้าบ่อย ๆ กำลังทำให้คุณสมบัติของเสาแห่งนี้ที่มีมาตลอด 1,600 ปีหายไป

ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตัดสินใจสร้างรั้วล้อมเสาต้นนี้เอาไว้ เพื่อให้มันยังคงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคโบราณต่อไป

ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา