มอนเต คาลี ภูเขาเกลือเทียมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

เมืองเฮอร์รินเกน ทางตอนกลางของประเทศเยอรมนี เป็นที่ตั้งของเกลือแกงจำนวนมหาศาลจนเป็นที่รู้จักในชื่อของ มอนเต คาลี (Monte Kali) ภูเขาเกลือเทียมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ต้นกำเนิดของมอนเต คาลี ต้องย้อนกลับไปถึงปี ค.ศ.1976 เมื่อเกลือโพแทชถูกสกัดอออกจากเมืองรอบ ๆ เมืองเฮสเซิน ในอดีตแร่โพแทชถูกใช้เพื่อทำผลิตภัณฑ์อย่างสบู่และแก้ว แต่ปัจจุบันโพแทชเป็นส่วนประกอบสำคัญในปุ๋ยหลายชนิด ยางสังเคราะห์ และแม้แต่ยาบางชนิด ดังนั้นจึงมีการสกัดเอาแร่โพแทชออกมาอย่างจริงจังในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

แต่ปัญหาของการขุดแร่โพแทชนั้นจะสร้างโซเดียมคลอไรด์จำนวนมากเป็นผลพลอยได้ และพวกเขาต้องเก็บมันเอาไว้ที่ไหนสักแห่ง ดังนั้น Kali und Salz (K+S) บริษัทที่ดำเนินการทำเหมืองจึงเริ่มทิ้งเกลือทั้งหมดนี้ห่างจากเมืองเฮอร์รินเกนแค่เพียงไม่กี่ไมล์

เมื่อเวลาผ่านไป K+S ได้สร้างภูเขาเกลือที่มีขนาดใหญ่ยักษ์ที่ชาวบ้านเรียกมันว่า มอนเต คาลี

ในปี 2017 มอนเต คาลี มีความสูงราว 1,730 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล และครอบคลุมพื้นที่กว่า 625 ไร่ ดังนั้นการเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นภูเขาเทียมจึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด และคุณสามารถมองเห็นภูเขาเกลือแห่งนี้ได้จากทุกที่ในเมือง

เมื่อถึงจุดหนึ่ง มอนเต คาลี ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างชื่อให้กับเมืองเฮอร์รินเกนไปแล้วเรียบร้อย มีผู้คนมากมายที่ยอมจ่ายเงินเพื่อขึ้นไปบนกองภูเขาเกลือขนาดมหึมา พร้อมกับการเดินทางมากับไกด์ทัวร์

การขึ้นภูเขาเกลือแห่งนี้ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 15 นาที จึงคุณสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของเมือง หุบเขา และป่าโดยรอบทั้งหมดของเมืองได้อย่างชัดเจน

แม้ว่าจะไม่มีการคำนวณปริมาณภูเขาเกลืออย่างเป็นทางการ แต่แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ที่พอจะตรวจสอบได้ระบุว่า ภูเขาเกลือแห่งนี้มีมวลอยู่ที่ประมาณ 236 ล้านตัน ครอบคลุมพื้นที่เท่ากับสนามฟุตบอล 114 สนาม และหนักเท่ากับหอไอเฟล 23,600 หอ

ที่สำคัญคือ ปริมาณเกลือที่จะถูกนำมาทิ้งจะเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 1,000 ตัน ผ่านสายพานลำเลียงยาว 1.5 กิโลเมตร ดังนั้น ภูเขานี้จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากถึง 7.2 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าภูเขาเกลือที่อยู่ใกล้กับป่าและแม่น้ำจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีงานวิจัยพบว่าภูเขาเกลือที่เพิ่มขึ้นทำให้แม่น้ำมีความเค็มมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังจำนวน 60 ถึง 100 สายพันธุ์ที่เคยอยู่บริเวณนี้ ตอนนี้เหลือแค่เพียง 3 สายพันธุ์เท่านั้น

นั่นหมายความว่ามันคือหายนะทางสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน แต่อุตสาหกรรมโพแทชมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะยุติการทำเหมืองได้ ทั้งระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานผู้คนนับพัน อีกทั้ง K+S ยังได้รับการขยายใบอนุุญาตทำเหมืองไปจนถึงปี 2060 รวมถึงได้รับอนุญาตให้ขยายพื้นที่ทำเหมืองไปอีก 156 ไร่

น่าสนใจว่าในอนาคตต่อจากนี้ ชาวเมืองเฮอร์รินเกนอาจต้องสูญเสียอะไรบางอย่างไป เมื่อพวกเขาเลือกอุตสาหกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ก็อาจต้องแลกมาด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่อาจแปรเปลี่ยนไปตลอดกาล

ที่มา: odditycentral