นักวิทย์ทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 1 ล้านล้านปีข้างหน้า กับโลกและจักรวาล

เชื่อว่าทุกคนคงเคยมีความคิดอยากรู้อนาคตอันไกลโพ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่ใช่แค่เพียงอนาคตของมนุษยชาติอย่างเดียวเท่านั้น แต่ชะตากรรมของโลกเราใบนี้ หรือถึงจักรวาลเองล่ะจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์เองจะไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าในอนาคตของพวกเราจะเป็นอย่างไร แต่พวกเขาก็พยายามที่จะคาดเดาอนาคตผ่านข้อมูลและเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน จนทำให้เราพอทราบได้คร่าวๆ ว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนจะมีอะไรบ้าง วันนี้เพชรมายาขอพาทุกท่านไปชมข้อมูลเหล่านี้กัน

1. ในอนาคตอีก 10,000 ปีข้างหน้า

หนึ่งในผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนก็คือการละลายของแผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก ในอีกไม่กี่ศตวรรษข้างหน้าจะเกิดการละลายของแผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้บางส่วน ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราว 3-4 เมตร นอกจากนั้น แบรนดอน เครเตอร์ นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวออสเตรเลียได้เสนอทฤษฎีที่ว่า มนุษย์มีโอกาสมากถึง 95% ที่จะสูญพันธ์ไปจากโลกนี้ภายในอีก 10,000 ปีข้างหน้า

ทฤษฎีนี้ได้รับการถกเถียงกันอย่างมาก บ้างก็ว่ามนุษย์เราจะผสมปนเปกันทุกเชื้อชาติ ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ทุกคนจะเหมือนกันหมด แต่พันธุกรรมที่แตกต่างกันอย่างเช่น มนุษย์ที่มีตาสีฟ้าหรือตาสีน้ำตาล ก็จะอาศัยอยู่กระจัดกระจายไปทั่วโลก

2. ในอนาคตอีก 13,000 ปีข้างหน้า

เมื่อมาถึงจุดนี้ การส่ายของแกนหมุนของโลกจะมาได้ครึ่งทาง แกนโลกจะกลับด้าน จนส่งผลให้ฤดูร้อนและฤดูหนาวเกิดขึ้นสลับฝั่งกับวงโคจรของโลก และฤดูกาลในซีกโลกทางเหนือจะเห็นการเปลี่้ยนแปลงได้เด่นชัดเนื่องจากมีพื้นที่ส่วนมากเป็นแผ่นดิน และมันจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

3. ในอนาคตอีก 15,000 ปีข้างหน้า

อ้างอิงจากทฤษฎี Sahara Pump Theory การส่ายของแกนหมุนโลกที่เปลี่ยนไป จะทำให้เกิดลมมรสุมในแอฟริกาเหนือ จะเปลี่ยนทะเลทรายซาฮาร่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เหมือนกับที่มันเคยเต็มไปด้วยป่าฝนเมื่อประมาณ 5,000-10,000 ปีก่อน

4. ในอนาคตอีก 20,000 ปีข้างหน้า

พื้นที่เขตหวงห้ามเชอร์โนบิล ที่มีพื้นที่ประมาณ 2,600 ตารางกิโลเมตร ในประเทศยูเครนและเบรารุส จะกลับมาปลอดภัยสำหรับการอยู่อาศัยของมนุษย์อีกครั้ง หลังจากที่เกิดโศกนาฏกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดในปี ค.ศ. 1986 จนทำให้พื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยกัมมันตรังสีที่เป็นอันตรายสำหรับมนุษย์ไปอย่างน้อย 20,000 ปี

5. ในอนาคตอีก 36,000 ปีข้างหน้า

ดาวแคระแดง Ross 248 จะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกด้วยระยะห่าง 3.024 ปีแสง และมันจะกลายเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดแทนกลุ่มดาว Alpha Centauri เป็นระยะเวลา 8,000 ปี ก่อนจะคืนตำแหน่งนี้ให้กับ Alpha Centauri อีกครั้ง

6. ในอนาคตอีก 50,000 ปีข้างหน้า

น้ำตกไนแอการาและทะเลสาบอีรีที่เหลืออยู่ 32 กิโลเมตรจะหายไป โลกจะเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้ง ธารน้ำแข็งส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของแคนาดาจะหายไปจากการถูกกัดเซาะและจากการยกตัวของแผ่นดิน นอกจากนั้นระยะเวลา 1 วันของโลกเราจะยาวขึ้นอีก 1 วินาที เนื่องจากโลกหมุนรอบตัวเองช้าลง

7. ในอนาคตอีก 100,000 ปีข้างหน้า

ดาวฤกษ์ไฮเปอร์ไจแอนท์ VY Canis Majoris ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบ (มีขนาด 1,420 เท่าของรัศมีดวงอาทิตย์) จะเกิดระเบิดขึ้นจนกลายเป็นไฮเปอร์โนวา ส่วนโลกเองจะเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟยักษ์ระเบิดขึ้นจนเกิดแมกม่าที่่มากมายมหาศาลถึง 400 ลูกบาศก์กิโลเมตร หรือมากกว่าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลถึง 30 เท่า นอกจากนั้นประมาณ 10% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ จะยังคงค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก

8. ในอนาคตอีก 200,000 ปีข้างหน้า

เนื่องจาก “การเคลื่อนที่เฉพาะ” (Proper Motion) จะทำให้เราไม่เห็นกลุ่มดาวจระเข้, กลุ่มดาวนายพราน และกลุ่มดาวเพอร์ซิอัส อีกต่อไป ส่วนในอีก 250,000 ปีข้างหน้า ภูเขาไฟใต้น้ำ Loihi ที่อยู่บริเวณหมู่เกาะฮาวาย จะโผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำในทะเลแปซิฟิก จนกลายเป็นเกาะใหม่

9. ในอนาคตอีก 300,000 ปีข้างหน้า

ดาว Wolf–Rayet และ WR 104 จะเกิดระเบิดกลายเป็นซุปเปอร์โนวา และนั่นอาจส่งผลให้เกิดรังสีแกมม่าที่คุกคามสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทิศทางองศาของรังสีว่าจะตรงโลกมากแค่ไหน เนื่องจากแกนหมุนของดาวยังไม่ได้รับการคำนวณอย่างแน่ชัด

10. ในอนาคตอีก 500,000 ปีข้างหน้า

โลกอาจเผชิญกับการชนจากดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1 กิโลเมตร ส่วนเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้วที่หลงเหลืออยู่ในเครื่องปฏิกรณ์จะปลอดภัยแล้ว

11. ในอนาคตอีก 1 ล้านปีข้างหน้า

โลกจะเผชิญกับการปะทุของภูเขาไฟยักษ์อีกครั้งที่มีปริมาณแมกม่ามากกว่าครั้งที่แล้วถึง 8 เท่า ซึ่งเทียบเท่าได้กับการระเบิดของภูเขาไฟยักษ์ที่ทำให้เกิดทะเลสาบโตบา ในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อประมาณ 75,000 ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ค้นพบมาในรอบ 25 ล้านปี นอกจากนั้น ดาวยักษ์แดง Betelgeuse จะเกิดระเบิดขึ้นจนสามารถมองเห็นได้ในเวลากลางวัน

12. ในอนาคตอีก 2 ล้านปีข้างหน้า

นี่คือระยะเวลาที่ระบบนิเวศของปะการังที่เสียหายจาก “ทะเลกรด” ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ จะฟื้นตัวกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง แกรนด์ แคนยอนจะถูกกัดเซาะลึกลงไปอีกเล็กน้อย และจะกว้างขึ้นจนล้อมรอบแม่น้ำโคโลราโด

13. ในอนาคตอีก 10 ล้านปีข้างหน้า

หุบเขาทรุดแอฟริกาตะวันออกจะถูกท่วมโดยทะเลแดงกลายเป็นมหาสมุทรใหม่ ความหลายหลายทางชีวะภาพกลับมาสมบูรณ์อีกครั้งหลังจากสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในปัจจุบัน เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นบนโลกเรามาแล้วหลายครั้ง ที่มนุษย์เราคุ้นเคยกันดีก็คือการสูญพันธ์ของไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว

14. ในอนาคตอีก 50 ล้านปีข้างหน้า

นี่คือระยะเวลาคาดการณ์ที่ดวงจันทร์โฟบอสจะชนเข้ากับดาวอังคาร ส่วนทวีปแอฟริกาชนกับทวีปยูเรเชีย ทำให้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหายไปเกิดเป็นเทือกเขาสูงคล้ายๆกับเทือกเขาหิมาลัย

15. ในอนาคตอีก 100 ล้านปีข้างหน้า

ถึงเวลาที่วงแหวนของดาวเสาร์จะหายไป ส่วนโลกเองจะถูกดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดพอๆ กับที่เคยทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์มาแล้ว

16. ในอนาคตอีก 250 ล้านปีข้างหน้า

ทวีปบนโลกของเราจะกลับมารวมกันเป็นมหาทวีปอีกครั้ง เหมือนกับในอดีตที่เราเคยมีมหาทวีปแพนเจีย ที่ก่อตัวขึ้นจากหน่วยทวีปเมื่อประมาณ 335 ล้านปีก่อน โดยคาดว่าจะมี 3 มหาทวีปเกิดขึ้นได้แก่ อนาเซีย, โนวาแพนเจีย และ แพนเจียอัลติมา นอกจากนั้น ดวงอาทิตย์จะเดินทางครบ 1 รอบจุดศูนย์กลางกาแลกซีทางช้างเผือก

17. ในอนาคตอีก 600 ล้านปีข้างหน้า

ความสว่างของดวงอาทิตย์จากมากจนขัดขวางวงจรคาร์บอนเนต-ซิลิเกต ทำให้คาร์บอนถูกกักไว้ในผืนดินมากขึ้น ในขณะที่น้ำระเหยจากพื้นดิน หินแข็งตัวมากขึ้น ทำให้แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ช้าลงจนกระทั่งหยุดลงในที่สุด ส่งผลให้ไม่เกิดภูเขาไฟระเบิดซึ่งเป็นการส่งคาร์บอนกลับขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้ระดับของคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเรื่อยๆ จนพืช C3 ซึ่งนับเป็น 99% ของสายพันธุ์พืชในปัจจุบันจะตายเนื่องจากไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ส่วนดวงจันทร์จะอยู่ห่างจากโลกมากขึ้นจนไม่มีทางเกิดสุริยุปราคาได้อีก

18. ในอนาคตอีก 800 ล้านปีข้างหน้า

คาร์บอนไดออกไซด์ลดลงจนพืช C4 ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ออกซิเจน และ โอโซนหายไปจากชั้นบรรยากาศของโลก สัตว์บางชนิดในมหาสมุทรอาจอยู่รอดได้ อย่างไรก็ตาม การลดลงของสารอินทรีย์และออกซิเจนในน้ำจะทำให้สัตว์น้ำทั้งหลายไม่รอดเช่นกัน สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์จะล้มหายตายจากไปเหลือแค่เพียงแบคทีเรียเซลเดียวเท่านั้นที่จะอาศัยอยู่บนโลกนี้ได้

19. ในอนาคตอีก 1 พันล้านปีข้างหน้า

แสงจากดวงอาทิตย์สว่างเพิ่มขึ้น 10% ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยที่ผิวโลกเป็น 47 องศาเซลเซียส น้ำทะเลระเหยไปจนเกือบหมด อาจจะยกเว้นบริเวณขั้วโลกซึ่งอาจจะยังมีน้ำเหลืออยู่ ซึ่งอนุญาตให้มีสิ่งมีชีวิตที่มีรูปแบบพื้นฐานได้

20 ในอนาคตอีก 2 พันล้านปีข้างหน้า

แกนโลกชั้นนอกแข็งตัว ถ้าแกนชั้นในยังคงขยายในอัตราปัจจุบันที่ 1 มิลลิเมตรต่อปี เมื่อปราศจากของเหลวที่แกนชั้นนอก สนามแม่เหล็กโลกก็จะหายไป ลมสุริยะจะพุ่งชนกับชั้นบรรยากาศของโลกโดยตรงและส่งผลให้ชั้นบรรยากาศของโลกค่อยๆหายไป

21. ในอนาคตอีก 3 พันล้านปีข้างหน้า

อุณหภูมิบนพื้นผิวของโลกเพิ่มขึ้นจนถึงระดับ 149 องศาเซลเซียส สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่เหลืออยู่จะไม่รอด ดวงจันทร์ที่ถอยห่างจากโลกออกไปเรื่อยๆ จะทำให้การแกว่งของแกนโลกที่เคยเสถียรลดลงเรื่อยๆ และในอีก 3.5 พันล้านปี ปริมาณไอน้ำในบรรยากาศชั้นล่างเพิ่มเป็น 40% ประกอบกับความสว่างของดวงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้น 35-40% บรรยากาศของโลกจะร้อนมากอุณหภูมิจะพุ่งขึ้นสูงถึง 1,330 องศาเซลเซียส ร้อนพอที่จะทำให้หินที่อยู่บนพื้นผิวหลอมละลายได้

22. ในอนาคตอีก 4 พันล้านปีข้างหน้า

กาแลกซีแอนโดรเมดาจะชนกับกาแลกซีทางช้างเผือกของเรา และรวมกันเป็นแกแลกซีใหม่ชื่อ Milkomeda ส่วนดาวเคราะห์ในระบบสุริยะคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการชนในครั้งนี้

23. ในอนาคตอีก 5 พันล้านปีข้างหน้า

ไฮโดรเจนในแกนกลางของดวงอาทิตย์ถูกเผาไหม้จนหมด ในขณะนั้นดวงอาทิตย์จะมีสภาพเป็นดาวยักษ์แดงที่สมบูรณ์

24. ในอนาคตอีก 7 พันล้านปีข้างหน้า

โลกกับดาวอังคารจะหันหน้าเดียวเข้าหาดวงอาทิตย์ที่ขยายใหญ่ขึ้น และมีโอกาสถูกทำลายโดยดวงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 256 เท่า ดวงจันทร์จะแตกสลายกลายเป็นวงแหวน และตกลงมายังพื้นผิวโลก ในระว่างนั้น ชั้นบรรยากาศของโลกส่วนใหญ่จะสูญหายไปในอวกาศ พื้นผิวจะเต็มไปด้วยทะเลลาวา อุณหภูมิเฉลี่ยบนโลกอาจมากถึง 2,130 องศาเซลเซียส และ ณ ตอนนี้ พื้นที่บนดาวไททัน ที่เป็นดวงจันทร์ของดาวเสาร์ จะเหมาะกับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตมากที่สุด

25. ในอนาคตอีก 8 พันล้านปีข้างหน้า

ดวงอาทิตย์จะกลายเป็นดาวแคระขาวที่เหลือมวลเพียง 54.05% ของในปัจจุบัน ถ้าโลกยังอยู่รอดมาได้ถึงจุดนี้ อุณภูมิบนพื้นผิวจะลดลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับดาวอื่นๆ ในระบบสุริยะ เนื่องจากดวงอาทิตย์ที่กลายเป็นดาวแคระขาวมีพลังงานน้อยกว่าดวงอาทิตย์ที่อยู่ในปัจจุบันนี้

26.ในอนาคตอีก 1.4 หมื่นล้านปีข้างหน้า

ดวงอาทิตย์จะกลายเป็นดาวแคระดำ ซึ่งเกิดจากการที่ดาวแคระขาวมีพลังงานไม่มากพอที่จะปลดปล่อยความร้อนหรือแสงสว่าง และนั่นทำให้เราไม่สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์จากโลกได้อีกต่อไป

27. ในอนาคตอีก 2.2 หมื่นล้านปีข้างหน้า

นี่คือจุดจบของจักรวาลที่เรียกว่า Big Rip หรือการฉีกขาดครั้งใหญ่ ทุกสิ่งอย่างทั้งดวงดาว กาแลคซี ไปจนถึอนุภาคย่อยของอะตอมจะถูกฉีกออกเป็นเสี่ยงๆ เป็นผลจากการขยายตัวที่เร็วมากของเอกภพ 60 ล้านปีก่อนเกิด Big Rip กาแล็กซีทั้งหมดจะเริ่มสูญเสียดวงดาวที่อยู่บริเวณขอบกาแล็กซี 3 เดือนก่อนเกิด Big Rip ระบบดาวทั้งหมดจะหยุดการเคลื่อนที่ 30 นาทีก่อนเกิด Big Rip ดาวทุกดวงหรือแม้แต่ดาวนิวตรอนหรือแบล็กโฮลจะสลายกลายเป็นอะตอม และเสี้ยววินาทีสุดท้ายแม้แต่อะตอมก็จะสลาย แม้แต่เวลาก็ไม่เหลือ

28. ในอนาคตอีก 1 แสนล้านปีข้างหน้า

การขยายตัวของจักรวาลจะทำให้กาแล็กซีทั้งหมดนอกเหนือจากกลุ่มทางช้างเผือก หายไปจากเส้นขอบจักรวาลที่เราสังเกตได้ นอกจากนั้นรังสีไมโครเวฟพื้นหลังของจักรวาลจะเย็นลงจาก -270.45 องศาเซลเซียส เหลือ -272.85 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้เทคโนโลยีในปัจจุบันไม่สามารถตรวจจับได้

29. ในอนาคตอีก 1 ล้านล้านปีข้างหน้า

เวลา ณ จุดนี้ถือเป็นจุดจบของจักรวาลที่เรียกว่า เอกภพปิด (Closed Universe) นั่นคือ เอกภพมีความหนาแน่นของมวลสารและพลังงาน มากเพียงพอจนแรงโน้มถ่วงสามารถเอาชนะการขยายตัวได้ ในที่สุดเอกภพจะหดตัวกลับ และถึงจุดจบที่เรียกว่า บิ๊กครันช์ (Big Crunch) หรือการบดขยี้ครั้งใหญ่ จะเกิดการรวมกันของกระจุกกาแล็กซี จนทำให้ดาวต่างๆ ชนกัน รังสีไมโครเวฟพื้นหลังของจักรวาลจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 องศาเซลเซียส จนทำให้ดาวฤกษ์เกิดการระเบิด หลุมดำทั้งหมดในจักรวาลจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวที่กลืนกินสสารทุกอย่างในจักรวาลเอาไว้ หลังจากนี้เป็นไปได้ว่าจะเกิดบิกแบงครั้งใหม่ จนทำให้จักรวาลใหม่เกิดขึ้นอีกครั้ง

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ

ที่มา : boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา