เมื่อเร็ว ๆ นี้ เรื่องราวของหญิงชาวจีนคนหนึ่งได้จุดประกายความขัดแย้งบนโลกออนไลน์ หลังจากที่อ้างว่า เธอใช้เวลาเก็บเงินนานถึง 12 ปี เพื่อเป็นค่าสินสอดให้พี่ชายของเธอไปขอผู้หญิงแต่งงาน
หากย้อนกลับไปในทศวรรษ 1960 และ 1970 สินสอดที่นำไปสู่ขอเจ้าสาวเป็นแค่เพียงของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ชุดเครื่องนอนถือเป็นเรื่องปกติ ต่อมาในยุค 80 สินสอดได้เปลี่ยนเป็นของที่มีราคาสูงขึ้นอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ทีวีและตู้เย็น
ส่วนในช่วงที่เศรษฐกิจของจีนเฟื่องฟูในยุค 90 สินสอดของเจ้าสาวเริ่มมีราคาสูงขึ้น โดยอาจจ่ายเป็นเงินสด รถยนต์ หรือแม้แต่บ้านที่จะกลายเป็นเรือนหอในอนาคต
ชายชาวจีนที่บ้านมีฐานะมักจะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ แต่สำหรับผู้ชายที่บ้านยากจนจะมีโอกาสน้อยมากที่จะหาเจ้าสาวได้ จนบางภูมิภาคถึงกับมีการนำเข้าเจ้าสาวจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่บางครอบครัวของก็ความตั้งใจอย่างมากในการผลักดันให้ลูกชายเป็นฝั่งเป็นฝา ตัวอย่างเช่นในกรณีของหญิงวัย 33 ปี จากมณฑลอันฮุย ที่อุทิศชีวิตของเธอตลอด 12 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้แน่ใจว่าพี่ชายของเธอจะมีทรัพย์สินเพียงพอที่จะไปขอผู้หญิงได้
หญิงนิรนามรายนี้กล่าวกับสื่อจีนว่า เธอเปิดร้านขายชงโหยวปิ่ง หรือแพนเค้กต้นหอมทอดของจีน ที่มีรายได้ราว 100,000 หยวนต่อเดือน (ราว 5 แสนบาท) แต่แทนที่จะใช้เงินเพื่อความสุขของตนเอง เธอกลับนำเงินไปซื้อบ้านและรถยนต์ให้กับพี่ชายของเธอ นอกจากนั้นเธอยังเปิดร้านอาหารให้กับเขาอีกด้วย
“หลังจากพี่ชายแต่งงานแล้ว ฉันค่อยคิดถึงตัวเองทีหลัง ฉันรองานแต่งงานของฉันได้” หญิงสาวกล่าว
“ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ฉันยิ่งประหยัดมากขึ้น แม้กระทั่งตอนที่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้ตัวเอง”
หญิงสาวกล่าวต่อไปว่า เธอยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง และย้ำว่าพี่ชายของเธอคือคนสำคัญที่สุด ซึ่งเธอจะคิดถึงตัวเองก็ต่อเมื่อพี่ชายของเธอเป็นฝั่งเป็นฝาไปแล้ว
ไม่น่าแปลกใจที่เรื่องราวของเธอจะกลายเป็นประเด็นให้ได้ถกเถียงกันบนโลกออนไลน์ของจีน โดยผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกสงสารเธอ และบางคนก็กล่าวว่าเธอกำลังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี
ตัวอย่างความคิดเห็นของชาวเน็ต เช่น
“พี่ชายของเธอไม่ได้ทำงานหรือไงนะ มันไม่ยุติธรรมกับน้องสาวผู้น่าสงสารเลย”
“ยิ่งเธอให้พี่ชายมากเท่าไหร่ พี่ชายของเธอก็จะยิ่งเอาจากเธอมากขึ้นเท่านั้น”
ในขณะที่หญิงสาวได้ตอบโต้เสียงวิจารณ์ว่า ผู้คนไม่รู้ว่าครอบครัวของเธอผ่านอะไรมาบ้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นพวกเขาจึงไม่เข้าใจแรงจูงใจของเธอ
“ชีวิตของทุกคนแตกต่างกัน พวกเขาอาจไม่เคยประสบกับความยากลำบากเหมือนเราในวัยเด็ก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่จะไม่มีใครเข้าใจ” หญิงสาวกล่าว
ที่มา: odditycentral