ชายหาดทรายดำของบราซิลแห่งนี้ เต็มไปด้วยกัมมันตภาพรังสีจากธรรมชาติ

ถ้าพูดถึงชายหาดที่อันตรายต่อมนุษย์ หลายคนคงนึกไปถึงชายหาดที่มีคลื่นน้ำวนหรือเต็มไปด้วยแมงกะพรุนพิษ แต่สำหรับชายหาดที่บราซิลแห่งนี้กลับต่างออกไป เพราะความอันตรายของมันเกิดจากค่ากัมมันตภาพรังสีที่สูงกว่าปกติ

กัวราปาริ ถือเป็นเมืองชายฝั่งทะเลในประเทศบราซิลที่มีแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมมากมายและมีชายหาดที่ยาวหลายร้อยกิโลเมตร แต่ไม่มีชายหาดใดที่เหมือนกับ อาเรีย เปรตา ที่มีชื่อเสียงในเรื่องของทรายสีดำที่มีระดับกัมตภาพรังสีเกือบ 400 ของรังสีพื้นหลังที่ถูกบันทึกในสหรัฐอเมริกา

ทรายบางส่วนบนชายหาด อาเรีย เปรตา มีลักษณะเฉพาะที่มีสีดำที่ประกอบไปด้วย ‘โมนาไซต์’ แร่กัมมันตรังสีหายากที่เป็นแร่ประเภทฟอสเฟตที่อุดมไปด้วยธาตุหายากหลายชนิดรวมทั้งยูเรเนียมและทอเรียม

จากการวิจัยพบว่าการแผ่รังสีพื้นหลังบนชายหาดแห่งนี้สามารถสูงได้ถึง 20 μSv/h ในขณะที่บางจุดโดยเฉพาะบริเวณที่มีทรายสีดำจำนวนมากจะมีระดับการแผ่รังสีที่สูงถึง 55 μSv/h

μSv/h คือ ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง โดยเป็นอัตราปริมาณรังสีคือปริมาณรังสีที่ได้รับในช่วงเวลาหนึ่ง

ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับระดับการแผ่รังสีทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่ประมาณ 0.34 μSv/h ในขณะที่การเอ็กซเรย์ปอด 1 ครั้งจะทำให้ผู้คนได้รับรังสีประมาณ 50 μSv

นั่นหมายความว่าการที่คุณนั่งอยู่บนชายหาดแห่งนี้นาน 1 ชั่วโมง ก็อาจทำให้คุณได้รับรังสีเทียบเท่ากับการเอ็กซเรย์ปอด 1 ครั้งนั่นเอง

ทรายสีดำที่อุดมไปด้วยแร่โมนาไซต์ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1880 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย คาร์ล เอาเออร์ ฟอน เวลส์บาก กำลังมองหาธาตุทอเรียมมาใช้ทำ “ไส้ตะเกียงเจ้าพายุ” ที่เขาคิดค้นขึ้นในตอนนั้น และทรายสีดำที่นี่ก็พิสูจน์แล้วว่ามันเป็นวัตถุดิบที่เหมาะสมอย่างมาก

หลังจากนั้นเหมืองแร่โมนาไซต์ในราซิลจึงเกิดขึ้นและครองอุตสาหกรรมธาตุหายากนี้ไปจนถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 20

ต่อมาในปี 1972 ทรายดำกัมมันตรังสีที่รู้จักกันมานานได้เริ่มถูกนำไปใช้ในสถานการณ์ที่แปลกไปกว่าเดิม หลังจากที่ ซิลวา เมลโล แพทย์ผู้ริเริ่มเปิดหลักสูตรการบำบัดด้วยทรายกัมมันตรังสี โดยเธออ้างว่ามันช่วยรักษาปัญหาสุขภาพได้หลากหลายรวมทั้งโรคไขข้อ

จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากพยายามรักษาโรคด้วยการไปนอนบนหาดทรายหรือเอาทรายดำเหล่านี้มาปกคลุมร่างกายโดยไม่สนใจอันตรายจากการได้รับรังสีเป็นเวลานาน

แน่นอนว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมืองกัวราปาริได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้เต็ม ๆ พวกเขาตั้งชื่อเล่นให้กับเมืองตัวเองว่าเป็น “เมืองแห่งสุขภาพ” อย่างภาคภูมิใจ แม้ว่าจะมีข้อโต้แย้งมากมายเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการสัมผัสทรายก็ตาม

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พื้นที่ส่วนมากของเมืองกัวราปาริก็ยังมีการแผ่รังสีพื้นหลังในระดับต่ำเฉลี่ยประมาณ 0.6 µSv/h ซึ่งไม่ได้มีผลต่อสุขภาพร่างกายแต่อย่างใด แต่สำหรับบนชายหาดเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นชิง เนื่องจากคลื่นทะเลได้ซัดทรายดำเหล่านี้เข้ามาริมชายหาดอย่างต่อเนื่อง และสารประกอบกัมมันตรังสีเหล่านี้ก็มาในรูปของทรายดำ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีการวิจัยพบว่ารังสีแกมมาเพียงอย่างเดียวบนชายหาด อาเรีย เปรตา ก็ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อนักท่องเที่ยว การศึกษาหนึ่งในปี 2002 พบว่า รังสีแกมมาบนชายหาดเทียบได้กับปริมาณรังสีในบริเวณใกล้เคียงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล

รายงานระบุว่า รังสีที่ดูดซึมผ่านผิวหนังสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนังได้ ในขณะที่สารกัมมันตภาพรังสีที่สูดดมเข้าไปอาจทำให้เกิดมะเร็งปอด ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงทำให้สำนักงานนิวเคลียร์ของบราซิลไม่แนะนำให้คุณใช้เวลามากเกินไปบนชายหาดแห่งนี้

ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าให้มีการแยกแร่โมนาไซต์ (สีเหลืองเข้มถึงน้ำตาล) เพื่อนำไปขาย เนื่องจากมันเป็นแร่มีค่าที่อุดมไปด้วยธาตุหายาก และยังคงเก็บทรายดำเอาไว้เพื่อให้มันเป็นจุดขายของชายหาดแห่งนี้ต่อไป

ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา