แฮกเกอร์ใช้ AI โคลนนิ่งเสียงหลอกเงินธนาคารไปกว่า 1 พันล้านบาท

ผู้จัดการธนาคารแห่งหนึ่งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถูกหลอกให้อนุมัติการโอนเงินจำนวน 35 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1,100 ล้านบาท หลังจากได้รับการยืนยันจากเจ้าของบัญชีผ่านโทรศัพท์ แต่ปรากฎว่าเสียงที่เขาได้ยินกลับเป็นเสียงของ ‘ตัวปลอม’

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปีที่แล้ว ผู้จัดการธนาคารแห่งหนึ่งที่ไม่ถูกเปิดเผยข้อมูลได้รับโทรศัพท์จากลูกค้าธนาคารระดับ VIP ที่เป็นผู้อำนวยการของบริษัทแห่งหนึ่งที่เขาเคยพูดคุยกันมาก่อน

ลูกค้า VIP ระบุว่า เขากำลังรู้สึกตื่นเต้นที่บริษัทของเขากำลังจะเข้าซื้อกิจการครั้งสำคัญ ดังนั้นเขาจึงต้องการให้ธนาคารอนุมัติการโอนเงินจำนวน 35 ล้านเหรียญอย่างเร็วที่สุด

ลูกค้ารายนี้เสริมว่าทนายความที่ชื่อ มาร์ติน เซลเนอร์ ถูกว่าจ้างให้รับหน้าที่จัดการเรื่องเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ และผู้จัดการสามารถเห็นอีเมลจากทนายความที่ถูกส่งไปให้เรียบร้อยแล้ว

เนื่องจากผู้จัดการเคยคุยกับลูกค้ามาก่อน เขาจำเสียงของลูกค้าได้อย่างแม่นยำและทุกอย่างที่ลูกค้าพูดก็ถูกต้องหมด ดังนั้นเขาจึงอนุมัติการโอนเงินครั้งใหญ่นี้โดยไม่เอะใจแม้แต่น้อย แต่นั่นคือความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตการทำงานของเขา

ผู้จัดการธนาคารอนุมัติการโอนเงินผ่านธนาคาร โดยมั่นใจว่าทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริง เขาเพิ่งตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงที่มีเทคโนโลยีสูงที่ซับซ้อน

คนที่เขาคุยด้วยไม่ใช่ลูกค้าตัวจริง แต่เป็นมิจฉาชีพที่ใช้เทคโนโลยี Deepvoice ที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อลอกเลียนเสียงของลูกค้าธนาคารตัวจริง จนทำให้เราไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเสียงที่ถูกปลอมแปลงกับเสียงต้นฉบับได้

การโจรกรรมครั้งใหญ่นี้ถูกเปิดเผยในเอกสารของศาลที่ทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังขอความช่วยเหลือจากทีมตรวจสอบชาวอเมริกันในการติดตามเงินจำนวน 4 แสนเหรียญ จากทั้งหมด 35 ล้านเหรียญ ที่ถูกโอนเข้าบัญชีธนาคาร Centennial Bank ในสหรัฐอเมริกา

คดีนี้มีการเปิดเผยข้อมูลออกมาไม่มากนัก สิ่งที่เราทราบก็คือมีผู้ร่วมขบวนการอย่างน้อย 17 คน และเงินดังกล่าวถูกส่งต่อไปยังบัญชีทั่วโลกทำให้ยากต่อการติดตามและกู้คืน

ในขณะที่ มาร์ติน เซลเนอร์ ทนายความชาวอเมริกันรวมถึงสำนักงานอัยการในดูไบก็ไม่ได้ออกมาให้ข้อมูลกับสื่อใด ๆ

นี่เป็นกรณีที่สองเท่านั้นที่มีการใช้เทคโนโลยี Deepvoice ในการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2019 แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปลอมเสียง Deepvoice หรือปลอมแปลงใบหน้าอย่าง Deepfake กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และบรรดามิจฉาชีพต่างก็ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้

“การปลอมแปลงเสียงง่ายกว่าการปลอมแปลงวิดีโอมาก และมันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่มีการเรียนรู้เพื่อป้องกันการโจมตีรูปแบบใหม่นี้ ไม่ใช่แค่ธนาคารเท่านั้น ธุรกิจต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อเช่นกัน เนื่องจากบทสนทนาที่เกิดขึ้นมีความน่าเชื่อถือมาก” เจค มัวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กล่าว

ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา