สยามอาจไม่ใช่ประเทศเดียวที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองยิ้ม” เพราะเมื่อเกือบๆ 90 ปีก่อน
ทางแถบยุโรปก็เกือบจะมีเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองยิ้มเช่นกัน ถึงแม้จะไม่ได้ยิ้มด้วยความเต็มใจแบบ สยามเมืองยิ้ม ก็ตาม
ในช่วงทศวรรษที่ 1930 บูดาเปสต์ เมืองหลวงของประเทศฮังการี ถือเมืองที่ได้รับความนิยม
จากนักท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างมาก แต่ในทางกลับกัน ด้านมืดของเมืองแห่งนี้กลับเลวร้ายกว่าที่ใครๆ
จะคาดคิด เพราะเมืองแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองแห่งการฆ่าตัวตาย”
เป็นเวลาหลายปีหลังจากภัยสงคราม อัตราการฆ่าตัวตายของชาวเมืองเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
วิธียอดนิยมของผู้ที่ต้องการฆ่าตัวตายก็คือการกระโดดลงไปในแม่น้ำดานูป
ด้วยจำนวนที่มากมายมหาศาสล ทางรัฐบาลจึงต้องจัดเรือลาดตระเวณลอยสอดส่องดูแล
และคอยช่วยเหลือผู้คนที่อยากลงไปนอนใต้แม่น้ำที่แสนจะมืดมิดแห่งนี้
และไม่น่าเชื่อว่า อีกสาเหตุของการฆ่าตัวตายของผู้คนในบูดาเปสต์ ก็คือเพลง
“Gloomy Sunday” ของ เรสโซ เซเรสส์ นักแต่งเพลงชาวฮังการี ที่มีท่วงทำนองอันแสนเศร้า
ใครก็ตามที่ฟังเพลงนี้จะรู้สึกหดหู่จนรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย แต่ถ้าใครใจแข็งพอลองไปฟังกันเล่นๆ ดู
ผู้คนหลายร้อยคนที่ฆ่าตัวตายหลังจากฟังเพลงนี้ แม้แต่อดีตคนรักของเรสโซเองก็ตัดสินใจกินยาพิษตาย
ก่อนที่เขาจะไปขอคืนดีกับเธอไม่นาน จนรัฐบาลฮังการีตัดสินใจห้ามไม่ให้เปิดเพลงนี้ออกอากาศ แต่ถึงอย่างนั้น
เพลงนี้ได้ถูกแปลออกไปเป็นภาษาต่างๆ มากมาย และมีคนอีกหลายประเทศอย่างอเมริกาและอังกฤษก็ฆ่าตัวตายเพราะมัน
ในปี 1937 หนังสือพิมพ์ของชาวดัตช์ที่มีชื่อว่า Het Leven ได้เผยแพร่ภาพของผู้หญิงคนหนึ่งที่พยายามฆ่าตัวตาย โดยการกระโดดมาจากระเบียงห้องของเธอ
แต่มีชาย 2 คนสามารถรับเธอเอาไว้ได้ทันที่ด้านล่าง
มีหลายคนคิดว่าทาง Het Leven ได้ตั้งใจสร้างสถานการณ์เหล่านี้ขึ้นมาเองเพื่อสร้างกระแส
แต่ทาง Het Leven ได้ออกมาปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง
ด้วยความที่แฟชั่นการฆ่าตัวตายเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ศาสตราจารย์จีโน่ และนักสะกดจิตนามว่าบินค์โซ จึงคิดที่จะสร้าง
“คลับแห่งรอยยิ้มขึ้นมา” โดยตอนแรกมันเป็นแค่มุกตลกที่พูดกันเล่นๆ แต่สุดท้ายมันก็กลายเป็นโรงเรียนขึ้นมาจริงๆ
โรงเรียนของพวกเขาสอนวิธียิ้มให้กับผู้คน อย่างเช่น วิธียิ้มแบบรูสเวลต์ ยิ้มแบบโมนาลิซา
ยิ้มแบบดาราคนดังต่างๆ มากมาย ธุรกิจของพวกเขามีจุดประสงค์เพื่อทำให้ผู้คนนิยมการยิ้มแย้มแจ่มใสมากขึ้น
และเปลี่ยนเมืองบูดาเปสต์ให้เป็น “เมืองแห่งรอยยิ้ม”
ทาง Het Leven ได้เผยแพร่ภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนแห่งนี้ จะเห็นได้ว่า
คุณครูในชุดขาวกำลังสอนให้นักเรียนยิ้มอ่อนแบบโมนาลิซา
ผู้ที่เข้ามาเรียนจะได้รับการสวมหน้ากากเพื่อบังคับให้พวกเขายิ้มอยู่ตลอดเวลา
ถึงแม้ว่าภายในใจของพวกเขาจะไม่ได้ยิ้มก็ตาม นี่อาจเป็นเทคนิคหนึ่งที่ช่วยได้เช่นกัน
ชายที่ยิ้มแฉ่งอยู่ในรูปด้านบน ก็คือประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ผู้ที่เป็นต้นแบบของรอยยิ้มอันอบอุ่น
กลายมาเป็นต้นแบบแห่งรอยยิ้มของนักเรียนในบูดาเปสต์
การยิ้มมีหลายระดับ แต่ละระดับก็บอกถึงความหมายที่สื่อออกมาที่แตกต่างกัน
แต่ทาง Het Leven ก็แฉว่า จริงๆ แล้วเบื้องหลังของโรงเรียนแห่งนี้เหมือนจะเป็นการหลอกลวงมากกว่า
เพราะ ศจ.จีโน่ และ บินค์โซ เก็บค่าสอนถึง 500 เหรียญ (ในสมัยก่อนถือว่าสูงมาก)
เพื่อให้ผู้คนยิ้มแบบรูสเวลต์ในระยะเวลา 6 สัปดาห์ ส่วนการยิ้มแบบโมนาลิซาจะราคาถูกกว่า
ซึ่งพวกเขาบอกว่า ธุรกิจของเขาจะทำให้นักเรียนทุกคนยิ้มแบบเป็นธรรมชาตินั่นเอง